Buddha, Zen and Wisdom

เรื่องของ “หน้า”

เรื่องของ “หน้า”
Written by Apple Td
“หน้านอก บอกความงาม
หน้าใน บอกความดี
หน้าที่ บอกความสามารถ
หน้านอก แต่งให้พอดี
หน้าในกับหน้าที่ แต่งให้มาก ๆ”
          หลายครั้งที่เห็นผู้หญิงสวยหลายคน แต่กิริยาไม่น่ารักเอาเสียเลย นั่นก็เป็นเพราะว่าแต่งหน้านอกเสียมาก จนลืมที่จะแต่งหน้าในกันไป
หน้าในแต่งได้ไม่ยาก แค่เอาหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวัน
การอยู่ร่วมสังคม ถ้าเราไม่ยึดหลักธรรมการอยู่ร่วมกัน ก็จะกลายเป็นไม่เคารพกัน เกิดการทะเลาะวิวาท ซึ่งมีให้เห็นอยู่มาก
เริ่มจากปฎิวัติตัวเองเพื่อรับศีลห้า ศีลห้านั้นเป็นธรรมข้อที่จะทำให้เราได้เกิด สติ สมาธิ และปัญญา เป็นลำดับต่อไป
ซึ่งวันนี้ขอเสนอหลักธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ตามหลักพระพุทธศาสนาดังนี้

พระพุทธศาสนา มีหลักธรรมที่สำคัญที่หล่อหลอมให้พุทธศาสนิกชนเป็นคนรักสันติ รักอิสระเสรี มีนิสัยโอบอ้อมอารี มีเมตตากรุณาต่อกัน ได้แก่

สังคหวัตถุ 4 หมายถึง หลักธรรมสำหรับสงเคราะห์หรือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ได้แก่

(1) ทาน คือ การให้ แบ่งปัน เสียสละ เผื่อแผ่

(2) ปิยวาจา คือ การกล่าววาจาสุภาพ อ่อนหวาน

(3) อัตถจริยา คือ การกระทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

(4) สมานัตตตา คือ การวางตัวเหมาะสม เสมอต้น  เสมอปลาย

พรหมวิหาร 4 หมายถึง ธรรมประจำใจที่ทำให้เป็นพรหมหรือให้เสมอด้วยพรหมในทางปฏิบัติหมายถึง คุณธรรมของผู้ใหญ่ ซึ่งต้องมีประจำในอยู่ตลอดเวลา มี 4 ประการ ดังนี้

(1) เมตตา คือ ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข

(2) กรุณา คือ ความสงสาร มีความปรารถนาช่วยผู้อื่นหรือสัตว์ที่ประสบความทุกข์ ให้พ้นทุกข์

(3) มุทิตา คือ ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

(4) อุเบกขา คือ ความวางเฉย หรือความรู้สึกเป็นกลาง ๆ  ไม่ดีใจ ไม่เสียใจเมื่อเห็นผู้อื่นประสบความสุข หรือความทุกข์

สัปปรุริสธรรม 7 หมายถึง หลักธรรมของคนดี หรือหลักธรรมของสัตบุรุษ 7 ประการ ได้แก่

(1) ธัมมัญญุตา คือ ความเป็นผู้รู้จักเหตุ

(2) อัตถัญญุตา คือ ความเป็นผู้รู้จักผล

(3) อัตตัญญุตา คือ ความเป็นผู้รู้จักตน

(4) มัตตัญญุตา คือ ความเป็นผู้รู้จักประมาณ

(5) กาลัญญุตา คือ ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา

(6) ปริสัญญุตา คือ ความเป็นผู้รู้จักปฏิบัติ การปรับตนและแก้ไขตนให้เหมาะสม

(7) ปุคคลัญญุตา คือ ความเป็นผู้รู้จักปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับบุคคลซึ่งมีความแตกต่างกัน

 

ที่มา : หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

#เห็นทุกข์ เห็นธรรม

About the author

Apple Td

Leave a Comment

Translate »