ฮือฮา สภาเภสัชกรรม โพสต์แสดงความยินดี อาจารย์ได้รับเกียรตินำชื่อตั้งเป็นพืชสกุลขมิ้น พันธุ์ใหม่จากสุโขทัย “กระเจียวอาจารย์สุมนต์”
ภาพจาก เฟซบุ๊ก สภาเภสัชกรรม : The Pharmacy Council
วันที่ 6 มกราคม 2568 เฟซบุ๊ก สภาเภสัชกรรม : The Pharmacy Council โพสต์แสดงความปลื้มปีติ ชื่นชม และร่วมแสดงความยินดีกับ รศ.ดร. เภสัชกรสุมนต์ สกลไชย อดีตคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น, อดีตนายกสภาเภสัชกรรม และปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยบูรพา เนื่องในโอกาสที่ รศ.ดร. เภสัชกรสุมนต์ พร้อมคณะผู้วิจัย จากหน่วยวิจัยความหลากหลายพืชวงศ์ขิงและพืชท่อลำเลียงเพื่อการประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับเกียรติ ในการนำชื่อของท่านมาตั้งเป็นชื่อของพืชสกุลขมิ้นวงศ์ขิง จากจังหวัดสุโขทัย ชนิดใหม่ ชื่อ Curcuma sumonii Saensouk, P.Saensouk, Boonma& Techa ซึ่งมีการตั้งชื่อไทยว่า “กระเจียวอาจารย์สุมนต์”
ทั้งนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ รศ.ดร. เภสัชกรสุมนต์ สกลไชย ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชศาสตร์ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งมีคุณูปการในการสนับสนุนนักวิจัย และงานวิจัยทั้งในด้านพฤกษศาสตร์และเภสัชพฤกษศาสตร์
ด้านเฟซบุ๊ก Diversity of Family Zingiberaceae and Vascular Plant for Its Applications ของหน่วยวิจัยความหลากหลายพืชวงศ์ขิงและพืชที่มีท่อลำเลียงเพื่อการประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “กระเจียวอาจารย์สุมนต์” ระบุว่า ลักษณะเด่นคือ มีใบเรียวแคบ มีเนื้อด้านในเหง้าสีขาว ไม่มีแขนง ต้นสูง 30-38 เซนติเมตร กาบใบมีขน มีใบ 4-5 ใบ ก้านใบมีขน เรียงสลับระนาบเดียวกัน ลิ้นใบสั้น ปลายมน แผ่นใบรูปรีแคบแกมขอบขนาน ขนาด 12-23.5 x 0.9-1.8 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม ร่องกลางใบสีเขียว ฐานใบเรียวเข้าสู่ก้านใบ ผิวใบมีขนทั้งสองด้าน ช่อดอกเกิดระหว่างกาบใบ
ดอกจะบานพร้อมผสมในช่วงเช้า
ออกดอกในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม
เนื่องจากกระเจียวสุมนต์มีต่อมน้ำหวาน มีใบประดับส่วนยอดที่เด่นชัด
และมีลักษณะดอกที่เป็นรูปทรงคล้ายระฆัง ทำให้จัดอยู่ในสกุลขมิ้น
สกุลย่อยขมิ้น
ปัจจุบันพบ
กระเจียวอาจารย์สุมนต์ ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย
เขตพรรณพฤกษชาติภาคเหนือของไทย ในป่าไม้ผลัดใบ
โดยมีการกระจายพันธุ์ในขอบเขตพื้นที่การกระจายพันธ์ (EOO) น้อยกว่า 50
ตารางกิโลเมตร, พบอยู่ในพื้นที่อาศัย (AOO) น้อยกว่า 5 ตารางกิโลเมตร
และพบจำนวนประชากรน้อย
ทางคณะผู้วิจัยจึงเสนอให้กระเจียวอาจารย์สุมนต์มีสถานะการอนุรักษ์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ เพื่อปกป้องพืชชนิดใหม่นี้และถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติจนกว่าจะมีการค้นพบจำนวนประชากรและขอบเขตการกระจายพันธุ์เพิ่มเติมในอนาคตเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะการอนุรักษ์ให้เหมาะสมต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก สภาเภสัชกรรม : The Pharmacy Council, Diversity of Family Zingiberaceae and Vascular Plant for Its Applications