ลูกค้ากินซับเวย์ แล้วสีตกใน่อาหาร วัตถุดิบขาด กระดาษไม่พิมพ์ลาย ด้านซับเวย์ไทยแลนด์มาตอบ นั่นคือสาขาหมดลิขสิทธิ์ไปนานแล้ว เผยมีสาขาไหนบ้าง เยอะกว่าสาขาถูกลิขสิทธิ์เพียบ
กำลังเป็นประเด็นอยู่ไม่น้อยเลย เมื่อล่าสุด 3 พฤศจิกายน 2567 ลูกค้าหลายคนได้ออกมาแจ้งถึงคุณภาพของร้านซับเวย์ ร้านแซนด์วิชชื่อดัง ที่พบว่าไม่มีมาตรฐาน วัตถุดิบขาด กระดาษไม่มีลายซับเวย์ สีเลอะและติดขนมปัง คุณภาพอาหารด้อยลงอย่างมาก จนทำให้ล่าสุด ทางซับเวย์ไทยแลนด์ได้เผยว่า มีหลายสาขามากที่เปิดแฟรนไชส์ผิดลิขสิทธิ์
โดยที่ทาง ซับเวย์ไทยแลนด์ ได้แจ้งลูกค้าว่า ตอนนี้ทางร้านได้รับข้อร้องเรียนหลายอย่าง ทั้งเรื่องคุณภาพอาหาร วัตถุดิบขาด กระดาษไม่มีลายซับเวย์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ลูกค้าที่ไปใช้บริการนั้น ไปใช้บริการของซับเวย์ในสาขาที่ถูกยกเลิกลิขสิทธิ์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม เช่น สาขาซีพีทาวเวอร์ สีลม, ปั๊ม ปตท. บางแสน, ปั๊ม ปตท. สุขสวัสดิ์, ปั๊ม คาลเท็กซ์ ประชานุกูล, 101 ดิจิทัลพาร์ค, เทอร์มินัล 21 พัทยา, โฮมโปร ประชาชื่น, เซ็นจูรี่ อนุสาวรีย์
ทางร้านบอกว่า หากลูกค้าที่ประสงค์จะซื้อสินค้าของซับเวย์ ให้สังเกตที่หน้าร้านว่าต้องมีเลขที่ร้าน เครื่องหมาย Authorized Franchise ซึ่งจะเป็นแฟรนไชส์ที่ได้รับสิทธิ์ถูกต้อง มีอาหารแลวัตถุดิบครบทั้งอโวคาโด มะกอก ถูกต้องตามมาตรฐาน พร้อมกับแนบรายชื่อร้านแฟรนไชส์ที่ถูกลิขสิทธิ์และยกเลิกลิขสิทธิ์มาให้
โดยพบว่า ร้านแฟรนไชส์ที่ถูกลิขสิทธิ์ในปัจจุบันมี 51 สาขา ส่วนแฟรนไชส์ที่ยกเลิกลิขสิทธิ์ไปแล้วนั้นมีกว่า 105 สาขา ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ตามปั๊มน้ำมัน หรือแม้ประทั่งในห้างดังอย่าง เดอะมอลล์บางกะปิ โฮมโปร ประชาชื่น ดีไซน์ วิลเลจ เกษตรนวมินทร์ 101 ทรูดิจิทัลปาร์ค เดอะไนน์ พระราม 9 ฯลฯ
เรื่องนี้ได้ทำเอาเพจดังอย่าง เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน เข้ามาสอบถามว่า ในขณะที่ตนกำลังสั่งอาหารและเห็นโพสต์นี้เลยเปิดอ่าน ปรากฏว่าสาขาที่ตนกำลังนั่งกิน หมดลิขสิทธิ์ไปแล้ว เลยตัดสินใจไปกินร้านเบอร์เกอร์ฝั่งตรงข้าม แล้วปัญหาแบบนี้คือลูกค้าต้องวัดดวงใช่ไหม ซึ่งทางซับเวย์ได้เข้ามาตอบว่า ในส่วนของแฟรนไชส์ที่ถูกยกเลิกลิขสิทธิ์แต่ยังคงดำเนินการเปิดต่อนั้น ทางบริษัทกำลังเร่งดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังพบว่า แม้กระทั่งร้านผิดลิขสิทธิ์ ยังมีโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ซึ่งเป็นโปรโมชั่น 29 ตุลาคม – 31 ธันวาคม จนเกิดคำถามว่า แล้วเป็นไปได้อย่างไรที่ร้านผิดลิขสิทธิ์จะมีโปรโมชั่นได้ แต่ทางซับเวย์ไทยแลนด์ ก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ถูกต้องแต่อย่างใด
ในขณะเดียวกัน หลายคนก็มาถามว่า ทำไมเรื่องนี้ทางซับเวย์ต้องผลักให้เป็นภาระผู้บริโภคไปตรวจสอบเองว่าสาขาไหนแท้ สาขาไหนเทียม ทั้งที่มันสร้างความเสียหายกับแบรนด์ ถ้ายกเลิกลิขสิทธิ์มานานแล้วยังทำต่อก็แสดงว่าละเมิดเครื่องหมายการค้า แบบนี้ฟ้องได้เลย เพราะร้านไม่มีการควบคุมคุณภาพ คุณภาพอาหารไม่ดี ซอสหมด ผักหมด จนแบรนด์เสียชื่อเสียง แล้วทางซับเวย์ปล่อยแบบนี้ได้ยังไง
ในขณะที่บางคน ได้เผยให้เห็นภาพของการไปกินซับเวย์ แล้วสีกระดาษตกใส่ขนมปังจนเป็นสีเหลือง หรือแม้กระทั่งพบว่า สาขาที่ผิดลิขสิทธิ์ ยังคงขายของในเดลิเวอรี่ก็มี