รู้จัก “งูสิง” หน้าตาคล้ายงูเห่า-จงอาง แต่ไม่มีพิษ ถูกบรรจุเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเพราะ “อร่อย”
งูสิง เป็นสกุลของงูไม่มีพิษหรือพิษอ่อนสกุลหนึ่ง ใช้ชื่อสกุลว่า Ptyas ในวงศ์งูพิษเขี้ยวหลัง (Colubridae)
งูสิงโดยทั่วไปเป็นงูที่มีลักษณะคล้ายกับงูเห่าและงูจงอาง โดยเมื่อถูกคุกคามมักจะขู่ฟ่อเหมือนงูเห่า แต่ไม่มีแม่เบี้ย และเมื่อถูกรบกวนหนักเข้าก็จะเลื้อยหนี เพราะไม่มีพิษ มีความว่องไวและคล่องแคล่วกว่างูเห่า
งูสิง ได้ชื่อว่ามีเนื้อที่อร่อยและนิยมปรุงเป็นอาหาร เดิมทีงูสิงไม่ได้ถูกบรรจุเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่เนื่องจากหลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อมีการตรวจสอบตามด่านต่างๆ โดยเฉพาะชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน พบมีการจับงูสิงเพื่อส่งออกจำนวนมาก เพื่อถลกหนังขาย หรืออาจนำไปเป็นอาหาร ขณะเดียวกันชาวบ้านในพื้นที่ไม่ว่าจะเหนือหรืออีสาน มักนิยมจับงูสิงเป็นอาหารด้วยเช่นกัน เพราะมีพิษอ่อน
“เนื่องจากงูสิงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ หากมีการจับหรือล่าจนมากเกินไป จะส่งผลต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารได้ เพราะงูสิงจะคอยควบคุมประชากร เช่น หนูที่ทำลายพืชผลการเกษตร รวมทั้งสัตว์ฟันแทะด้วย ดังนั้นเมื่อปริมาณงูสิงเริ่มลดลง กรมอุทยานฯ จึงได้บรรจุงูสิงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครอง พ.ศ.2535”
ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ปัจจุบันงูสิงมีหลายสปีชีส์หรือหลายประเภท แต่จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งหากมีการจับหรือล่าจะมีโทษทางกฎหมาย โทษจำคุก 4 ปีปรับไม่เกิน 40,000 บาท
งูสิงในประเทศในปัจจุบันมีทั้งหมด 6 ชนิด
1.งูสิงธรรมดา หรือ งูสิงตาโต หรือ งูเห่าตาลาน (Ptyas korros)
หัวยาวและส่วนของหัวกว้างกว่าลำคอเล็กน้อย ส่วนปลายของหัวมน ตาใหญ่มาก ลำตัวกลมและยาว หางยาวและส่วนปลายหางเรียว ผิวหนังลำตัวมีเกล็ดปกคลุม เกล็ดบนหัวเป็นแผ่นกว้าง เกล็ดบนหลังทางส่วนต้นของลำตัวมีขนาดใหญ่และพื้นผิวเรียบ เกล็ดท้องขยายกว้าง เกล็ดใต้หางเป็นแถวคู่ เกล็ดรอบลำตัวในตำแหน่งกึ่งกลางตัวจำนวน 15 เกล็ด เกล็ดท้องจำนวน 170 เกล็ด และเกล็ดใต้หางจำนวน 125 เกล็ด ลำตัวมีด้านบนของหัวและบนหลังครึ่งทางด้านหน้าของลำตัวสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเขียว ส่วนครึ่งทางด้านท้ายของลำตัวสีน้ำตาล เกล็ดปกคลุมลำตัวและหางมีขอบแผ่นเกล็ดสีจางหรือสีขาว ซึ่งสีขาวของขอบแผ่นเกล็ดได้ขยายกว้างขึ้นตามลำดับไปทางด้านท้ายลำตัวและหาง ทำให้ด้านท้ายของลำตัว โดยเฉพาะหาง เป็นสีขาวที่มีโครงข่ายร่างแหสีดำ คาง ใต้คอ และด้านท้องสีขาวอมน้ำตาล ด้านใต้หางสีขาว งูวัยอ่อนมีจุดเล็กสีขาวเรียงตัวเป็นแถวพาดขวาง (ไม่เป็นระเบียบ) เป็นระยะอยู่ทางส่วนต้นของลำตัว
พบกระจายพันธุ์ในทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และอนุทวีปอินเดีย เป็นงูที่กินหนูเป็นอาหารหลักกินงูเป็นรอง ออกหากินในเวลากลางวันบนพื้นดิน แต่ขึ้นต้นไม้ได้ดีและรวดเร็ว ว่ายน้ำได้ ประกอบกับมีพฤติกรรมการขู่และชูหัวพร้อมส่งเสียงขู่ฟ่อคล้ายงูเห่า ซึ่งเป็นงูที่มีพิษร้ายแรง จึงได้อีกชื่อหนึ่งว่า งูเห่าตะลาน
2.งูสิงหางลาย หรือ งูสิงคาน (Ptyas mucosa)
เป็นงูไม่มีพิษขนาดกลางๆ ปกติพบยาวราว 1.2-1.8 เมตร เป็นงูที่ทำคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นงูเห่าและจงอาง แต่ด้วยหัวยาวๆ ตาโตๆ หน้าลายๆ เวลาขู่จะงอคอเป็นตัว S และไม่สามารถแผ่คอแบนๆ ยกสูงแบบงูเห่าได้ จึงเป็นลักษณะที่พอสังเกตได้ว่าไม่ใช่งูเห่า/จงอาง เป็นนักกินหนูประสิทธิภาพสูง นิสัยดุ ไม่มีพิษมีภัยต่อคนและสัตว์เลี้ยง มีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเพื่อช่วยเกษตรกรควบคุมสัตว์ที่เป็นศัตรูพืชด้วย และยังเป็นงูที่ยังพบตามชุมชนเมืองเสมอๆ และพบได้ทุกภาคในพื้นที่ต่ำ
3.งูสิงหางดำ (งูสิงดง)
งูสิงหางดำ (Ptyas carinata) เป็นงูสิงที่ใหญ่ที่สุด สีจะผันแปรตั้งแต่เขียวเข้มจนถึงดำ มีลายสีเหลืองพาดขวางลำตัว ส่วนหลังจะมีสีเหลืองสลับดำลักษณะคล้ายตาข่าย หางสีเหลืองจุดดำ ใต้ท้องสีขาว ตาดำกลมโต ลักษณะเกล็ดใหญ่คล้ายของงูจงอางมาก แตกต่างจากงูสิงหางลาย งูสิงหางลายจะมีลายแถบสีดำเด่นตลอดลำตัวถึงหาง และขอบปากจะมีขีดดำๆ ส่วนงูสิงหางดำขอบปากขาวจะไม่มีขีดสีดำ นิสัยโดยส่วนใหญ่ค่อนข้างก้าวร้าว เวลาขู่จะพองคอออกไปทางด้านข้าง กินอาหารได้หลากหลาย เหยื่อมักเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็กเช่นหนู แต่ก็สามารถกินงูได้เช่นกัน
4.งูสิงทอง หรือ งูสิงใต้ (Ptyas fusca)
พบได้ในอินโดนีเซีย, บรูไน, มาเลเซีย, ไทย และสิงคโปร์ อาศัยในพื้นที่ป่า กินกบ สัตว์เลื้อยคลานตัวเล็กๆ และปลา จะหยุดนิ่งและยกคอเมื่อถูกรบกวน ตัวเต็มวัยมีสีตั้งแต่สีน้ำตาลจนถึงสีแดงอิฐที่ผิวด้านบน เกล็ดท้องเป็นสีขาวถึงเหลืองอ่อน แถบสีดำหนาที่อยู่ทั้งสองข้างของลำตัวด้านหลังไปจนถึงหางเป็นลักษณะเด่น ตากลมและใหญ่
5.งูสิงเขียว (Ptyas nigromarginata)
พบได้ยากในประเทศไทย เป็นพันธุ์พื้นเมืองของเอเชีย พบได้ในภูฏาน, เนปาล, อินเดีย, ตอนเหนือของบังคลาเทศ, ตอนเหนือของเมียนมาร์, นากาลันด์, จีน (กุ้ยโจว, ยูนนาน, ซีกวนตะวันตกเฉียงใต้, ซิเบอร์ตะวันออกเฉียงใต้) และอาจรวมถึงตอนเหนือของเวียดนาม ลักษณะเป็นงูขนาดใหญ่ อาจมีความยาวถึง 2 เมตร ด้านหลังของงูจะเป็นสีเขียว โดยแต่ละเกล็ดด้านหลังจะมีขอบดำ ด้านบนของหัวเป็นสีน้ำตาล ในตัวเต็มวัยจะมีแถบสีดำกว้าง 4 แถบที่ด้านหลังของลำตัวไปจนถึงหาง
6.งูสิงเขียวลายควั่น (Ptyas multicinctus) หนึ่งในงูที่หายาก เป็นงูเฉพาะถิ่นที่มีการกระจายตัวน้อย พบได้ในจีน ลาว เวียดนาม และทางภาคเหนือของประเทศไทย
เปิดรายชื่อ “งู 14 ชนิด” ติด พ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามฆ่า ห้ามกิน ห้ามเลี้ยง
Source link