In Thailand

มรภ.สวนสุนันทา หนุนเกษตรเมืองแม่กลอง ปลูก-แปรรูปพริกบางช้าง อนุรักษ์พืช GI

มรภ.สวนสุนันทา หนุนเกษตรเมืองแม่กลอง ปลูก-แปรรูปพริกบางช้าง อนุรักษ์พืช GI
Written by Thailand News

มรภ.สวนสุนันทา หนุนองค์ความรู้ต่อยอดสนับสนุนการปลูกและแปรรูปพริกบางช้าง พืช GI จ.สมุทรสงคราม เพิ่มช่องทางจำหน่าย มุ่งหวังสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชนและอนุรักษ์พืชประจำถิ่นให้คงอยู่ ผลชาวแม่กลองตอบรับดี เผยพร้อมต่อยอดการปลูก

รศ.ดร.รจนา จันทราสา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา กล่าวว่า “ทางสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา หนุนองค์ความรู้ต่อยอดสนับสนุนการปลูกและแปรรูปพริกบางช้าง พืช GI ของจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้ชุมชนพร้อมทั้งเป็นการอนุรักษ์พืชประจำถิ่น ผ่านความร่วมมือกับเกษตรจังหวัดสมุทรสงครามและศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ซึ่งมีสมาชิกและเครือข่ายเป็นเกษตรกรผู้ปลูกพริกบางช้าง โดยนำเทคโนโลยีและงานวิจัยมาแปรรูปพริกบางช้างเป็นเวชสำอางค์ ได้แก่ สบู่เหลว สบู่ก้อน ยาหม่อง ให้แก่สมาชิกของศูนย์การเรียนรู้ ฯ และช่วยสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านกิจกรรม ‘ตลาดในสวน’ อีกทั้งยังช่วยเสริมความรู้ในการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อแนะนำสินค้าให้รู้จักในวงกว้างมากขึ้นในช่องทางสื่อออนไลน์ และยังมีการสร้างแรงจูงใจในการส่งเสริมสนับสนุนการปลูกโดยมีการจัดประกวดพริกบางช้างขึ้นในงานตลาดในสวนที่จัดขึ้น ณ วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก เมื่อวันที่1สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา”
113334_0“ทั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงครามในการส่งวิทยากรให้ความรู้สอนการปลูก การดูแลรักษา ป้องกันและกำจัดโรคที่ถูกวิธีให้แก่สมาชิกของศูนย์การเรียนรู้ ฯ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ การนำองค์ความรู้และวิชาการของมหาวิทยาลัยมาช่วยเติมเต็มส่วนที่เกษตรกรผู้ปลูกพริกต้องการ สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน เกิดความยั่งยืนในอาชีพ ผลดำเนินการได้ผลดีตรงกับยุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยฯ และมั่นใจว่าการร่วมมืออย่างครบวงจรเช่นนี้จะช่วยอนุรักษ์พริกบางช้างให้อยู่คู่กับท้องถิ่นและสามารถสร้างความมั่นคงให้คนในท้องถิ่นได้ต่อไป” รศ.ดร.รจนา กล่าว

นายประสิทธิ์ สิงห์ชา เกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า “พริกบางช้างมีต้นกำเนิดที่ จ.สมุทรสงคราม ถือเป็นพืชที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Thai Geographical Indication) หรือ GI เป็นพืชล้มลุกอายุ 120 วัน ต้นสมบูรณ์จะให้ผลที่มีลักษณะเฉพาะ คือ ผลใหญ่ อวบ ปลายเรียว รสชาติเผ็ดน้อย เนื้อหนา หวาน หอม ผลอ่อนสีเขียวเข้ม ผลแก่สีแดงจัด ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่เริ่มปลูกพริกบางช้างน้อยลง เนื่องจากพริกเป็นโรคง่าย ไวต่อเพลี้ยและแมลง นอกจากนี้เมื่อการปลูกได้ผลผลิตมากแต่จำหน่ายออกไม่ทัน ทำให้สินค้าเสียหาย สูญเสียรายได้ เกษตรกรหลายรายจึงหันมาปลูกเพื่อบริโภคในครอบครัวเท่านั้น พื้นที่ปลูกพริกบางช้างรวมในจังหวัดปัจจุบันมีราว 10 ไร่ ซึ่งอาจจะน้อยลงเรื่อย ๆ และสูญหายไปในที่สุด”
113336_0“โดยการสำนักงานเกษตรจังหวัดได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในการทำหน้าที่เป็นวิทยากรช่วยแนะนำให้ความรู้ในการปลูก การดูแลรักษา ป้องกันและกำจัดโรคที่ถูกวิธีให้แก่สมาชิกในโครงการดังกล่าว รวมถึงส่งเสริมการปลูกในโรงเรียนเพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่รู้จักพริกชนิดนี้ และศูนย์การเรียนรู้ ฯ จะรับซื้อพริกสดที่ได้คุณภาพเพื่อนำมาแปรรูป โดยมี ม.ราชภัฏสวนสุนันทานำองค์ความรู้งานวิจัยมาแปรรูปพริกบางช้างให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ามากขึ้นกว่าการจำหน่ายแบบสด จากนั้นศูนย์การเรียนรู้ ฯ จึงจะนำสินค้าออกจำหน่ายต่อไป และมั่นใจว่าการร่วมมืออย่างครบวงจรเช่นนี้จะช่วยอนุรักษ์พริกบางช้างให้อยู่คู่กับท้องถิ่นและสามารถสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่นได้ต่อไป”

นางบุปผา ไวยเจริญ ประธานศูนย์วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก อ.บางคนที เผยว่า “แต่เดิมเกษตรกรในพื้นที่ปลูกพริกบางช้างแค่พอใช้ในครอบครัว เพราะพริกบางช้างดูแลรักษายาก จนเมื่อ ม.ราชภัฏสวนสุนันทาและเกษตร จ.สมุทรสงคราม นำองค์ความรู้ นวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุนตั้งแต่การปลูกอย่างไรให้ได้ผลผลิตสมบูรณ์ ตรงตามลักษณะ การเก็บเกี่ยว การแปรรูป และจำหน่าย ทำให้สมาชิกเกิดแรงกระตุ้นในการปลูกพริกบางช้างเพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น เพราะมั่นใจว่ามีตลาดรับซื้อในราคาที่เหมาะสม”
113335_0“วันนี้ทางศูนย์การเรียนรู้ ฯ จะรับซื้อพริกบางช้างเพื่อนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า จากพริกสดราคากิโลกรัมละ 40 บาท พริกแห้งกิโลกรัมละ 120 บาท เมื่อแปรรูปเป็นยาหม่อง สบู่เหลว สบู่ก้อน ผงพริกโรยข้าว สามารถขายได้ราคามากกว่า 100 บาทต่อชิ้น สมาชิกผู้ปลูกมีกำลังใจที่จะปรับปรุงพริกบางช้างให้มีคุณภาพดี และพร้อมจะพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อต่อยอดการแปรรูป เช่น การสกัดน้ำมันพริก เหล่านี้จะช่วยเพิ่มรายได้ เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรต่อไป เหนือสิ่งอื่นใด คือ เราสามารถเปิดตลาดได้ทั้งในและนอกชุมชนผ่านโซเชียลมีเดีย ลดการเดินทางให้ผู้สูงอายุ ลดค่าใช้จ่าย ช่วยให้สมาชิกที่สูงวัยมีกิจกรรมทำ มีการพบปะพูดคุย สภาพจิตใจแจ่มใส ชุมชนน่าอยู่มากขึ้น และยังได้ช่วยอนุรักษ์พืชประจำถิ่นด้วย”

ประชาชนหรือผู้สนใจศึกษาอาชีพ ติดต่อได้ที่ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก ต.บางยี่รงค์ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม โทรศัพท์ 08 1823 4229


Source link

About the author

Thailand News

Leave a Comment

Translate »