ไขข้อสงสัย งูเห่า-งูจงอาง ต่างกันยังไง ชนิดไหนพิษรุนแรงกว่า ถ้าต่อสู้กันใครชนะ?
งูเห่า และ งูจงอาง เป็นงูที่มีความคล้ายกันมาก มีพฤติกรรมการแผ่แม่เบี้ยเหมือนกัน มีการพ่นลมขู่เหมือนกัน สีสันของตัวใกล้เคียงกัน ทั้งคู่เป็นงูที่มีพิษรุนแรง พิษออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท
งูเห่า (Cobra) จัดเป็นงูที่อันตราย มีนิสัยดุร้าย เมื่อตกใจหรือต้องการขู่ศัตรู มักทำเสียงขู่ฟู่ ๆ โดยพ่นลมออกจากทางรูจมูก และแผ่แผ่นหนังที่อยู่หลังบริเวณคอออกเป็นแผ่นด้านข้างเรียกว่า “แม่เบี้ย” หรือ “พังพาน” ซึ่งบริเวณแม่เบี้ยนี้จะมีลวดลายเป็นดอกดวงสีขาวหรือสีเหลืองนวลเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ เช่น คล้ายตัวอักษรวีหรืออักษรยูหรือวงกลม หรือไม่มีเลยก็ได้ เรียกว่า “ดอกจัน” มีพิษมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทที่รุนแรง และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่ถูกกัดเสียชีวิต พิษของงูเห่านับว่ามีความร้ายแรงมาก
งูเห่ามีสีหลากหลาย เช่น ดำ, น้ำตาล, เขียวอมเทา เหลืองหม่น รวมทั้งสีขาวปลอดทั้งลำตัว ที่เรียกว่า งูเห่านวล หรือ งูเห่าสุพรรณ ซึ่งเป็นความหลากหลายทางสีสันของงูเห่าหม้อ (N. kaouthia) ที่เป็นงูเห่าชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย
นอกจากนี้แล้วในบางชนิดยังสามารถพ่นพิษออกมาจากต่อมน้ำพิษได้อีกด้วย เรียกว่า “งูเห่าพ่นพิษ” ซึ่งหากพ่นใส่ตา จะทำให้ตาบอดได้
งูจงอาง (King Cobra) เป็นงูพิษที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบได้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอนุทวีปอินเดีย ภาคใต้ของไทยเรียก บองหลา มีความยาวเฉลี่ย 3-4 เมตร แต่สามารถยาวได้ถึง 5-6 เมตร งูจงอางมีพิษที่สามารถทำให้เกิดอัมพาตและเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยพิษของงูจะทำลายระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก และหยุดหายใจในที่สุด
งูจงอางมีนิสัยระมัดระวัง ไม่ก้าวร้าวต่อมนุษย์ แต่ถูกรบกวนหรือคุกคามจะตั้งตัวสู้และอ้าปากขู่ และเมื่อถูกคุกคามจะยกตัวสูงขึ้นตั้งครึ่งหนึ่งของความยาวตัวเพื่อขู่ศัตรู โดยเฉพาะช่วงฤดูผสมพันธุ์ตัวเมียจะก้าวร้าวมากขึ้นเพื่อปกป้องไข่ของมัน งูจงอางมีพฤติกรรมการฉกกัดแบบติดแน่น ไม่กัดฉกเหมือนงูเห่า จึงกัดแล้วจะย้ำเขี้ยว
แม้ว่าจะเป็นงูที่ลำตัวยาวแต่ก็มีน้ำหนักที่เบากว่างูที่มีความยาวพอกันอย่างงูเหลือมหรืองูหลาม ทำให้งูจงอางนั้นจะมีคล่องแคล่วว่องไวทั้งบนบกและในน้ำ มีลูกตาดำและกลม หัวใหญ่กลมทู่ สามารถแผ่แม่เบี้ยได้เช่นเดียวกับงูเห่า ลำตัวเรียวยาว ว่ายน้ำเก่ง มีหลายสี ที่พบมากที่สุดคือ สีดำและเขียวอมเทา และสีนํ้าตาล ท้องมีสีเหลืองจนเกือบขาว มีสีแดงเกือบส้มที่บริเวณใต้คอ พิษของงูทำให้เหยื่อมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 75% เนื่องจากปริมาณพิษที่ฉีดออกจากเขี้ยวพิษมีมาก
ความแตกต่าง
1. สัดส่วนลำตัว ทางด้านสรีระของร่างกาย งูจงอางจะมีลำตัวที่เพรียวยาวกว่าอย่างเห็นได้ชัด ส่วนงูเห่าจะดูสั้นป้อมกว่า ความยาวงูเห่าเฉลี่ยประมาณ 1-2 เมตร
2. แม่เบี้ยของงูจงอาง จะดูแคบกว่างูเห่า เมื่อเทียบตามสัดส่วน และจะปรากฏลายแถบคอเป็นลักษณะเหมือนบั้ง ส่วนงูเห่าเวลาแผ่แม่เบี้ยอาจปรากฎเป็นดอกจันรูปตัว O V U แต่บางตัวอาจไม่พบดอกจันเลย เช่นงูเห่าพ่นพิษ
3. งูจงอางริมฝีปากล่างขาวตัดกับริมฝีปากบนชัดเจน ส่วนงูเห่านั้นริมฝีปากบนยังมีสีอ่อนไล่ขึ้นไปจนถึงตาในบางตัว
4. สถานที่พบ งูจงอางเป็นงูป่าโดยแท้จริง ดังนั้นสถานที่ที่จะพบต้องอยู่ติดกับป่าเขา หากอยู่ในเมืองที่ไม่ใกล้ป่าเลย งูที่พบมักจะเป็นงูเห่า มีน้อยครั้งที่งูจงอางหลุดหลงเข้ามา งูเห่าพบได้ทั่วไปในหลากหลายแหล่งที่อยู่อาศัย เช่น ป่า ทุ่งนา สวน และบริเวณใกล้เคียงที่อยู่อาศัยของมนุษย์
ใครพิษรุนแรงกว่า
งูเห่ามีพิษรุนแรงแม้ในปริมาณที่น้อย ความร้ายแรงของพิษมากกว่างูจงอาง แต่เพราะงูจงอางมีขนาดใหญ่กว่างูเห่าจึงมีน้ำพิษปริมาณมากกว่า น้ำพิษของงูจงอางสามารถฉีดออกมาได้ถึง 380-600 มิลลิกรัมในการฉกกัดแต่ละครั้ง ซึ่งอาจมีปริมาณมากถึง 10 เท่าของงูเห่า ซึ่งก็ทำให้ผู้ที่ถูกกัดเกิดอาการเร็วและรุนแรงกว่า
งูเห่า ปะทะ งูจงอาง ใครชนะ
งูจงอางเป็นงูพิษที่สามารถต้านทานพิษงูชนิดอื่น ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม เช่น งูเห่า งูกะปะ เมื่อเกิดการต่อสู้และถูกกัดจะไม่ได้รับอันตรายจนถึงตาย แต่จะกัดและกินงูเหล่านั้นเป็นอาหารแทน แต่ไม่สามารถต้านทานพิษงูจงอางด้วยกันเองได้ อีกทั้งงูจงอางยังมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่างูเห่ามาก เพราะฉะนั้นหากมีการต่อสู้กัน ส่วนใหญ่งูจงอางจึงเป็นฝ่ายชนะ
หากพบเจองูเข้าบ้าน วิธีที่ดีที่สุด โทร.สายด่วน 199 แจ้งหน่วยกู้ภัย หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการจับงูเข้ามาดำเนินการเพื่อความปลอดภัย “อย่าจับงูเองหากไม่ชำนาญ”
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น คำแนะนำจากศิริราช
-
ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ ไม่ควรใช้เหล้า ยาสีฟัน ขี้เถ้าทาแผล หรือสมุนไพรใดๆ
-
บีบเลือดออกจากแผลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ควรใช้ปากดูดหรือเปิดปากแผลด้วยของมีคม
-
การรัด ควรรัดเหนือและใต้บาดแผลประมาณ 3 นิ้วมือ ไม่ควรรัดเหนือบาดแผลให้แน่นมาก เพราะจะทำให้อวัยวะส่วนปลายขาดเลือดและเน่าตาย ควรคลายความแน่นพอสอดนิ้วมือได้ 1 นิ้ว จุดประสงค์เพื่อให้อวัยวะนั้นอยู่นิ่ง ไม่ใช่เป็นการห้ามพิษเข้าสู่หัวใจตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจไม่ถูกต้อง
-
ใช้ผ้าสะอาดห้ามเลือดด้วยการกดแผลโดยตรง ถ้าสามารถใช้แอลกอฮอล์หรือเบต้าดีนทาแผลได้ก็จะเป็นผลดีต่อการทำลายเชื้อโรคต่างๆ
-
พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด เพราะหากเคลื่อนไหวมาก จะทำให้พิษของงูเข้าสู่กระแสเลือดเร็วขึ้น
-
วางอวัยวะส่วนนั้นให้ต่ำกว่าหรือระดับเดียวกับหัวใจ
-
รับประทานยาแก้ปวดหากรู้สึกปวด แต่ห้ามใช้ยาที่มีฤทธิ์แอลกอฮอล์ ยาระงับประสาท ยานอนหลับ ยาดองเหล้า เป็นต้น
-
รีบนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลใกล้บ้าน ไม่จำเป็นต้องนำซากงูมาให้แพทย์ตรวจดูว่าเป็นงูประเภทใด เนื่องจากอาจจับได้ในบริเวณใกล้เคียงซึ่งไม่ใช่เป็นตัวที่กัด ปัจจุบันใช้การดูรอยกัดและลักษณะแผลเพื่อกำหนดการใช้เซรุ่มต้านพิษงูฉีดให้เหมาะสม
-
ให้ระลึกเสมอว่างูที่กัดทุกตัวเป็นงูมีพิษ
งูเหลือม กับ งูหลาม ต่างกันยังไง? เพิ่งรู้มีวิธีสังเกตง่ายมาก ดูแค่ส่วนหัวก็รู้เลย
Source link