ปั๊มน้ำมันติดป้าย ปิดโทรศัพท์มือถือจณะเติมน้ำมัน แต่กลับให้ลูกค้าสแกนจ่ายได้ เพราะอะไร ลบล้างความเชื่อเก่า ใช้มือถือใกล้ถังน้ำมันแล้วจะระเบิด แต่มีเหตุผลที่ดีกว่านั้น
ภาพจาก TEEREXZ / Shutterstock.com
เวลาที่เติมน้ำมัน เราคงจะเห็นป้ายระบุให้ปิดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งป้ายนี้ติดอยู่ทุกปั๊มน้ำมันในไทย เหตุที่ติดป้ายเนื่องมาจากกลัวว่า การใช้โทรศัพท์มือถือขณะที่กำลังเติมน้ำมันนั้น จะก่อให้เกิดประกายไฟได้
อย่างไรก็ตาม ในยุคออนไลน์และช่องทางการชำระเงินสะดวกสบายแบบนี้ หลายปั๊มนั้นสามารถชำระเงินโดยใช้มือถือสแกนจ่ายได้ แล้วแบบนี้ มันจะไม่ขัดกับที่ปั๊มบอกว่า ให้ปิดโทรศัพท์มือถือเหรอ
ภาพจาก sarayuth3390 / Shutterstock.com
แกะความเชื่อผิด ๆ ใช้โทรศัพท์มือถือในปั๊มน้ำมันแล้วไฟจะลุก ไม่ใช่เรื่องจริงเลย
ทั้งนี้ คำเตือนเรื่องการห้ามใช้มือถือในขณะที่เติมน้ำมันนั้น เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เมื่อเกิดเหตุการณ์ในอินโดนีเซียที่รถคันหนึ่งระเบิดเสียหายอย่างหนักในปั๊มน้ำมัน และคนขับรถก็ถูกไฟคลอก โดยคาดว่าสาเหตุเกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือ และต่อมาก็มีข่าวว่า เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันที่ออสเตรเลีย ทว่า กลับไม่มีรายงานอุบัติเหตุในครั้งนี้บนสื่อแต่อย่างใด
ในขณะเดียวกัน สมาพันธ์คณะกรรมการด้านการสื่อสาร หรือ FCC เคยออกมากล่าวว่า ไม่มีหลักฐานใด ๆ เลยที่บ่งชี้ว่า การใช้มือถือในปั๊มน้ำมันจะก่อให้เกิดระเบิด ซึ่งในทางทฤษฎีนั้น มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดประกายไฟจากมือถือที่ไปปะทะเข้ากับไอระเหยจากน้ำมันจนทำให้ไฟลุกไหม้ แต่ในความเป็นจริงนั้น โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้มีน้อยมาก ๆ
ในขณะที่นิตยสาร Reader’s digest ก็ระบุว่า หลายคนคิดว่าการใช้มือถือขณะที่เติมน้ำมัน จัะทำให้เกิดประกายไฟได้ แต่เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงเลย ไม่เคยมีรายงานที่บันทึกถึงเหตุการณ์ที่ว่า การใช้มือถือจะก่อให้เกิดไฟฟ้าสถิตย์จนทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ได้
เหตุผลดี ๆ ที่ไม่ควรใช้มือถือขณะเติมน้ำมัน ไม่ใช่เพราะมันจะระเบิด แต่เหตุผลดีกว่านั้น
อย่างไรก็ตาม เหตุผลหลัก ๆ ที่ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือขณะเติมน้ำมัน เป็นเพราะอยากให้ทุกคนมีสติและโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า หากเรามัวแต่ดูโทรศัพท์มือถือแล้วเกิดเหตุไม่คาดคิดในปั๊มน้ำมัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เกิดไฟไหม้ง่าย เราจะได้หาทางหนีทีไล่ได้ทัน รวมทั้งยังกันไม่ให้บางคนลืมตัวว่าตอนนั้นกำลังเติมน้ำมันอยู่ แล้วรีบสตาร์ทรถออกไปเลย ปล่อยน้ำมันไหลลงพื้นจนเกิดอันตราย
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ดีที่จะป้องกันไว้ดีกว่าแก้ แม้โอกาสที่จะเกิดไฟฟ้าสถิตย์จากการใช้โทรศัพท์ได้น้อยมาก แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย ไม่รวมถึงบางคนที่ใช้แบตเตอรี่ไม่ได้มาตรฐาน และเสี่ยงที่จะระเบิดได้ง่าย จึงเป็นเหตุให้มีป้ายเตือนให้ปิดโทรศัพท์มือถือทุกครั้งเมื่อเติมน้ำมัน