In Thailand

เปิดภาพชวนเศร้า พะยูนผอมมาก วอนช่วยเกาะลิบง หญ้าทะเลไม่เหลือ – เผยเหตุพะยูนหาย

เปิดภาพชวนเศร้า พะยูนผอมมาก วอนช่วยเกาะลิบง หญ้าทะเลไม่เหลือ – เผยเหตุพะยูนหาย
Written by Thailand News


          เพจขยะมรสุม ลงภาพพะยูนเกาะลิบง สภาพผอมมาก เหตุหญ้าทะเลแทบไม่เหลือ ด้าน ดร.ธรณ์ เผยสาเหตุพะยูนหายเพียบ



พะยูน

          กลายเป็นเรื่องราวชวนเห็นใจของสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ที่หลายคนให้ความสนใจ หลังวันที่ 8 มีนาคม 2567 เพจเฟซบุ๊ก ขยะมรสุม โพสต์ภาพ พะยูน ลักษณะผอม พร้อมเขียนข้อความ ระบุว่า “จะร้องแล้ว” พะยูนผอมมาก

          ท่าเรือบ้านพร้าว เกาะลิบง ไม่มีใครสนใจ รอให้ตายหมดก่อนเหรอครับ หญ้าก็หาย ตะกอนจากการก่อสร้างก็ไม่มีใครทำอะไร บอกใครก็ไม่สนใจ มารวมกันช่วยหน่อยได้เปล่า หลายเดือนแล้วไม่บูมเลย พะยูนตายทุกคนก็เฉย ๆ สภาพแย่ลงไปทุกวัน หญ้าเหลือน้อยแล้วนะ ขอความสนใจหน่อย ปีนี้ตายไปหลายตัวแล้วนะ

          ต่อมาเพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โพสต์ตอบในช่องความคิดเห็น ความว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 09.30 น. เจ้าหน้าที่ ทช. ได้รับแจ้งเหตุพบพะยูนเกยตื้นจากเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่เกาะลิบง

          กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง เดินทางไปรับซาก พะยูนที่เกยตื้นบริเวณเกาะลิบง เพื่อนำกลับมาชันสูตร หาสาเหตุการตายเมื่อทราบสาเหตุแล้วจะนำมาแจ้งให้ทราบครับ ในปี พ.ศ.2567 จังหวัดตรังพบพะยูนเกยตื้น 3 ตัว

          สำหรับในส่วนของปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายาก ด้านสมุทรศาสตร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่

          ซึ่งคณะดังกล่าวได้ลงพื้นที่ เพื่อมาเก็บข้อมูล รวมทั้งได้พูดคุยกับชาวบ้านชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ เมื่อวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รวมทั้งได้วางแผนลงพื้นที่อีกครั้งในวันที่ 10-16 มีนาคม เพื่อหาสาเหตุของการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล และนำมาออกมาตรการแก้ไขหรือฟื้นฟูหญ้าทะเลโดยเร็วที่สุด

พะยูน

          ขณะที่ เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ของนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการเกี่ยวกับทะเล โพสต์หัวข้อ “พะยูนไปไหน ?” ข้อมูลเบื้องต้น จากการบินสำรวจสัตว์หายากของกรมทะเล พบว่าพะยูนในเขตเกาะลิบง / เกาะมุกด์ มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน สภาพเช่นนี้อาจสัมพันธ์กับวิกฤตหญ้าทะเลที่มีปริมาณลดลง แต่จำนวนพะยูนที่ตายมีน้อยกว่าจำนวนพะยูนที่หายไป หมายความว่าพะยูนบางส่วน น่าจะมีการอพยพเปลี่ยนแหล่งหากิน เมื่อไม่ค่อยมีหญ้าให้กิน พะยูนก็เคลื่อนย้ายไปที่อื่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ในต่างประเทศมีงานวิจัยบอกว่าพะยูนอาจย้ายถิ่นเขยิบไปเรื่อยๆ นับร้อยกิโลเมตรหรือมากกว่านั้น

          จากแผนที่บินสำรวจของกรมทะเล อันดับแรก เกาะลิบงและเกาะมุกด์ เป็นแหล่งหญ้าทะเลใหญ่สุดในไทย พะยูนจึงมารวมกันอยู่ตรงนี้มากกว่าที่ไหน ๆ  ข้อมูลสำรวจกรมทะเลปี 2566 รายงานว่า พบมากกว่า 180 ตัว เป็นแม่ลูก 12 คู่ แต่การสำรวจปีนี้เบื้องต้นพบน้อยลงมาก และไม่พบแม่ลูกเลย (จนถึงตอนนี้ เหลือเวลาสำรวจอีก 2 วัน ติดตามข้อมูลเป็นทางการจากกรมทะเลต่อไป)

          เมื่อหญ้าหาย พะยูนส่วนหนึ่งอยู่สู้ต่อ อีกส่วนมีทางเลือก 2 ทางคือขึ้นเหนือหรือล่องใต้ หากล่องใต้ เกาะแรกที่มีหญ้าคือเกาะสุกร (22 กิโลเมตร จากลิบง) แต่แหล่งหญ้าค่อนข้างเล็ก เลยจากนั้นเข้าสตูล แหล่งหญ้าใหญ่อยู่ที่เกาะลิดี (40 กิโลเมตร  จากเกาะสุกร 60 +กิโลเมตร  จากลิบง)  ปัญหาคือมีรายงานสำรวจว่าหญ้าเริ่มลดลงเช่นกัน กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจในรายละเอียด (กรมอุทยาน/กรมทะเล/เครือข่าย) เลยลงไปอีกคือแถวตันหยง บริเวณนั้นเคยมีรายงานหญ้าทะเล แต่ปัจจุบันไม่แน่ใจสถานภาพ แต่ก็อยู่ในพื้นที่สำรวจ เลยไปอีกก็เข้าเขตมาเลเซียแล้ว

          คราวนี้ลองขึ้นเหนือ จากเกาะมุกด์ยังมีแหล่งหญ้าอีกหลายแห่ง เริ่มจากเกาะเมง/ปากเมง (15 กิโลเมตรจากเกาะมุกด์) ขึ้นไปอีกคือปากคลอง / สิเกา (15 กิโลเมตร จากปากเมง) เป็นแหล่งหญ้าใหญ่อีกเช่นกัน ปัญหาคือทั้งปากเมงและปากคลอง มีรายงานความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลเช่นเดียวกับที่อื่น ๆ ในตรัง หากพะยูนมาก็คงอยู่ไม่นาน ส่วนใหญ่อาจต้องขึ้นเหนือเข้ากระบี่ แหล่งหญ้าในกระบี่ติดกับตรังคือบ่อมะม่วง เชื่อมกับปากคลอง (ตรัง) ยังมีแหล่งหญ้าใหญ่อยู่ที่ลันตา (18กิโลเมตร จากปากคลอง) ขึ้นเหนือเลียบฝั่งไป มีแหล่งหญ้าใหญ่ที่เกาะปู  /เกาะศรีบอยา (30 กิโลเมตร จากปากคลอง / ตรัง) ปัญหาเช่นเดิมคือปริมาณหญ้าลดน้อยลง ล่าสุดทีมคณะประมงอยู่แถวนั้น รายงานว่าหญ้ามีน้อยกว่าอดีต

          อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเครียด ทำไมมีแต่ปัญหาหญ้าตาย ? เรามาถึงแหล่งหญ้าที่ยังไม่มีผลกระทบเป็นที่แรก นั่นคืออ่าวน้ำเมา อุทยานหาดนพรัตน์ธารา / พีพี (25 กิโลเมตรจากศรีบอยา) ข้อมูลที่ได้รับรายงานคือหญ้าบริเวณยังเหมือนเดิม น้องพะยูนได้กินเต็มอิ่มสักที แต่แหล่งหญ้าก็ไม่ได้ใหญ่นัก เคราะห์ดีที่แถวนั้นยังมีอีกหลายแหล่ง เช่น ท่าเลน เรื่อยไปจนถึงภูเก็ต ยังเป็นเขตที่หญ้าทะเลยังไม่มีปัญหา

          สรุปเบื้องต้นว่า

          1. พะยูนบางส่วนอยู่ที่เดิม (ลิบง/มุกด์) ที่เหลือน่าจะกระจายออกไป เป็นตัวเดี่ยว ๆ เพื่อหาแหล่งหญ้าใหม่ แหล่งละไม่กี่ตัว

          2. ไม่มีแหล่งไหนใหญ่เท่าลิบง / เกาะมุกด์ การรวมฝูงหากินจำนวนมากจึงอาจเกิดยาก

          3. แต่ละแหล่งหญ้าห่างกัน 15-30 กิโลเมตร อยู่ในพิสัยที่พะยูนไปถึงได้

          4. ถ้าพะยูนไปถึงแล้วแหล่งหญ้าเสื่อมโทรม พะยูนส่วนใหญ่คงไม่อยู่นาน แต่จะไปต่อเพื่อหากิน

          5. แหล่งหญ้าใหญ่พอคือเกาะศรีบอยา / เกาะปู แต่ต้องติดตามว่าสภาพหญ้าที่ไม่สมบูรณ์ จะรองรับได้แค่ไหน

          6. แหล่งหญ้าที่มีรายงานเบื้องต้นว่ายังไม่มีปัญหาคืออ่าวน้ำเมา รวมถึงแหล่งหญ้าอื่น ๆ ในกระบี่ตอนบน / อ่าวพังงา / ภูเก็ต อาจมีพะยูนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแหล่งหญ้าเล็ก ๆ กระจัดกระจาย

          7. เดิมทีมีพะยูนอยู่บ้างแล้ว ผู้อยู่ก่อนกับผู้มาใหม่จะมีพฤติกรรมเป็นเช่นไร ต้องติดตาม ปัญหาคือบริเวณนั้นมีการท่องเที่ยวหนาแน่น การสัญจรทางน้ำเยอะ จึงจำเป็นต้องดูแล

          อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นการคาดคะเน ทุกอย่างจะตอบได้เมื่อเราสำรวจทางอากาศครั้งใหญ่ อ่านมาจนถึงตรงนี้ คงทราบแล้วว่างานสำรวจวิจัยสำคัญแค่ไหน  ลงท้ายง่าย ๆ ว่าหากเราอยากช่วยน้องพะยูน เราต้องสนับสนุนให้มีการสำรวจครั้งใหญ่ ซึ่งอุปกรณ์บุคลากรของกรมทะเลมีพร้อมแล้ว รอเพียงงบปฏิบัติการ ยิ่งเรามีงบสำรวจครบถ้วน 5 จังหวัดต่อเนื่องกัน  ตรัง  กระบี่ สตูล /พังงา ภูเก็ต  นั่นจะเป็นการเปิดประตูไปสู่การช่วยที่แท้จริง

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ขยะมรสุม, เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat




Source link

About the author

Thailand News

Leave a Comment

Translate »