เอกสารลับรัฐบาลอิหร่านรั่วไหล ปรากฏ “บทลงโทษผู้หญิงที่ไม่สวมฮิญาบ” ท่ามกลางกระแสต่อต้านรุนแรงในสังคม
เมื่อคืนนี้ (21 ธันวาคม 2023) บีบีซีเปอร์เซียน (BBC Persian) เปิดเผยเอกสารลับของรัฐบาลอิหร่านถึงความพยายามจัดการต่อ ‘กลุ่มผู้หญิงที่ไม่สวมฮิญาบ’ โดยรายละเอียดส่วนหนึ่งระบุเรื่อง ‘ศาลเคลื่อนที่’ เพื่อลงโทษผู้ที่แต่งกายไม่เหมาะสม และบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการในการลงโทษนักเรียนหญิงที่ฝ่าฝืน ท่ามกลางแรงปะทะของสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่เรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ
ทั้งนี้ แหล่งข่าวเผยว่า กระทรวงความมั่นคงภายในอิหร่านจัดทำเอกสารในช่วงต้นปี 2023 ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นรายละเอียดและข้อบังคับต่อผู้หญิงที่ไม่สวมฮิญาบในสังคม โดยสรุปเนื้อหาหลักได้ 6 ประเด็นดังต่อไปนี้
1. การเสนอแนวคิดจัดตั้งศาลเคลื่อนที่ และหน่วยตรวจสอบในพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้าหรือรถไฟใต้ดิน เพื่อลงโทษผู้หญิงที่ไม่สวมฮิญาบ และทางการมีสิทธิปิดร้านค้าใดก็ตามที่สนับสนุนหรือส่งเสริมการกระทำนี้
2. กระทรวงศึกษาธิการและตำรวจมีบทบาทในการลงโทษนักเรียนหญิง หากฝ่าฝืนไม่สวมใส่ชุดดังกล่าว
3. ดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่ไม่สวมฮิญาบอาจถูกจำคุก 10 ปีขึ้นไป ในข้อหาสนับสนุนการทุจริต โดยเจ้าหน้าที่สามารถบุกเข้าบ้านเพื่อยึดโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ ได้
4. เอกสารปรากฏส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายอันเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Hijab and Chastity Bill’ ที่เป็นข้อถกเถียงในช่วงที่ผ่านมา หลังสภาอารักษ์อิหร่าน (The Guardian Council) ผ่านกฎหมายดังกล่าวในเดือนกันยายน 2023 ซึ่งเป็นบทลงโทษสำหรับผู้หญิงที่แต่งกาย ‘ไม่เหมาะสม’ เช่น การไม่ใส่ฮิญาบ และการแต่งตัวโป๊เปลือยในที่สาธารณะ
5. สร้างฐานข้อมูลรวบรวมรายชื่อผู้หญิงทั่วประเทศจากทะเบียนรถ ซึ่งใช้ในกรณีที่มีผู้หญิงไม่สวมฮิญาบออกจากบ้าน
6. เพิ่มการตรวจสอบพนักงานในบริษัททั่วประเทศ เพื่อไม่ให้มีผู้ที่แต่งกายยั่วยุ ไม่เหมาะสม และไม่สุภาพในเวลาทำงาน
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า รัฐบาลอิหร่านยังไม่แสดงท่าทีต่อสถานการณ์ดังกล่าวในเบื้องต้น ขณะที่สื่อพิมพ์ท้องถิ่นเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนถูกตั้งข้อหาเผยแพร่เอกสารลับ
การสวมฮิญาบกลายเป็นสิ่งล่อแหลมในสังคมอิหร่านตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติ 1979 ครั้งหนึ่ง ประเด็นดังกล่าวเคยปลุกการประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2022 หลัง แมฮ์ซอ แอมีนี (Mahsa Amini) หญิงสาวอิหร่านที่ถูกจับกุม ‘ข้อหาแต่งกายไม่เหมาะสม’ เธอเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของตำรวจอย่างไร้สาเหตุ
ทว่าการเรียกร้องครั้งนั้นจบลงด้วยโศกนาฏกรรม รัฐบาลอิหร่านปราบปรามและทารุณกรรมประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน ผู้บาดเจ็บนับพันคน อีกทั้งยังปรากฏเรื่องราวของเหยื่อที่ถูกทรมานและข่มขืนในคุกนับครั้งไม่ถ้วน
ในปัจจุบัน ขบวนการต่อต้านการสวมฮิญาบยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบีบีซีระบุว่า ยังมีผู้หญิงราว 20% ที่ไม่สวมชุดฮิญาบออกนอกบ้าน เพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านกฎหมายจากรัฐบาล
Source link