ไวรัลแชร์กันเป็นหมื่น ผ่อนบ้านเดือนละเกือบ 12,000 บาท แต่ตัดเงินต้น 5 บาท แบบนี้มันเกิดอะไรขึ้น จะต้องผ่อนจนตายหรือเปล่า กูรูมาชี้ทางสว่าง พร้อมแนะวิธีการเอาตัวรอดจากสถานการณ์นี้
กำลังเป็นไวรัลที่คนแชร์กันมหาศาล หลังจากที่สาวคนหนึ่งออกมาแชร์เรื่องจริงของการผ่อนบ้าน ว่า ผ่อนบ้านไปจำนวนกว่า 10,900 บาท แต่ตัดต้น 5.50 บาท เป็นดอกเบี้ยกว่า 10,894.50 บาท เลยเกิดข้อสงสัยว่า เรื่องนี้มันผิดพลาดตรงไหน ต้องผ่อนบ้านจนตายหรือเปล่า
อ่านเพิ่มเติม ไวรัล 1.4 หมื่น ผ่อนบ้านจ่ายเป็นหมื่น ตัดเงินต้นแค่ 5 บาท ชาตินี้เมื่อไรจะผ่อนหมด
ตอนแรกคุณเบลล์ก็ขำ แต่ไป ๆ มา ๆ ก็ช็อก ซึ่งธนาคารบอกว่าเนื่องด้วยดอกเบี้ยที่เธอได้นั้นเป็นดอกเบี้ยลอยตัว และดอกเบี้ยธนาคารก็ขึ้นอีก ทำให้เดือนนี้ลดต้นเหลือแค่ 5 บาทเท่านั้น
กูรูชี้ เรื่องนี้มันผิดพลาดตรงไหน เลือกผ่อนน้อย ผ่อนนาน กลายเป็นลูกหนี้ชั้นดีที่ธนาคารชอบ
ในขณะเดียวกัน ดร.กริช เศรษฐนันท์ กูรูด้านการวางแผนการเงิน ได้ออกมาเผยว่า สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะแต่ละเดือนเจ้าของบ้านผ่อนแต่ละเดือนน้อยมาก ไม่มีการคำนวณผิดใด ๆ ซึ่งธนาคารจะผิดได้ในกรณีเดียวคือ ใช้ดอกเบี้ยไม่ตรงกับสัญญาหรือข้อกำหนดของแบงก์ชาติ ถ้าผิดจริงจะไม่ใช่แค่เคสเงินต้นเกือบศูนย์แบบนี้ แต่จะผิดทุกวงเงินกู้
หากดูแล้ว คุณเบลล์ เจ้าของบ้าน น่าจะเสียดอกเบี้ยที่ 6% จากยอดกู้ 2 ล้านกว่าบาท ดอกเบี้ยแต่ละปีเสียที่ปีละ 120,XXX บาท หรือ 10,XXX บาทต่อเดือน และถ้าหากผ่อนที่เดือนละ 10,XXX บาทต่อเดือน ก็มีแต่จะเอาไปหักดอกเบี้ย ไม่หักเงินต้น แบบนี้คือเลือกผ่อนน้อย ผ่อนนาน และถ้าสมมุติคุณเบลล์ผ่อนเดือนละ 20,000 บาท ก็จะหักดอกเบี้ย 10,000 บาท อีก 10,000 บาทไปหักเงินต้น แบบนี้จะจบไวกว่า
การผ่อนบ้านนั้น เมื่อตัดเงินแล้ว จะคำนวณดอกเบี้ยใหม่ในแต่ละเดือนและดอกเบี้ยจะลดลงตามเงินต้นที่ถูกตัดออกไป ถ้าอยากจ่ายดอกเบี้ยโดยรวมทั้งหมดให้น้อย ก็ต้องผ่อนต่อเดือนให้เยอะ เพื่อที่จะไปตัดเงินต้นเยอะ ๆ ซึ่งคนที่จ่ายเงินต่อเดือนน้อย ๆ ผ่อนแต่ดอกเบี้ย คือลูกหนี้ชั้นดีที่พึงประสงค์ของธนาคารเลยทีเดียว !
ทั้งนี้ หาก อ่านสัญญา ดูโครงสร้างการผ่อนเงินกู้ให้ดี รู้จักวิธีรีไฟแนนซ์ ศึกษาเรื่องเงินที่มันเกี่ยวข้องกับชีวิตเราหลายๆด้าน
เพจดังชี้ อย่าติดกับดักผ่อนบ้านนาน มิเช่นนั้นเข้าสู่หายนะ แนะทางออกจากวังวน
ในขณะที่เฟซบุ๊ก Money LAB ได้ให้สูตรคำนวณในกรณีนี้ว่า การผ่อนบ้านแค่ขั้นต่ำ คือหายนะของการผ่อนบ้าน การกู้ซื้อบ้านหลังหนึ่งแล้วผ่อนในระยะยาว เราอาจจะโดนดอกเบี้ยกัดกินเป็นมูลค่าสูงกว่าที่คิด และ MRR นั้น เป็นดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ธนาคารจะเรียกเก็บจากลูกค้าเครดิตดี เช่น สินเชื่อผู้อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล สมมุติว่ากู้ซื้อบ้าน 3,000,000 บาท หากนำเงินต้นมารวมกับดอกเบี้ย ผ่อน 30 ปี เราอาจจะต้องจ่ายเงินทั้งหมดที่ 6,440,468 บาท เป็นดอกเบี้ยถึง 3,440,468 บาท ซึ่งจะเท่ากับว่า มูลค่าดอกเบี้ยที่จ่ายเยอะกว่ามูลค่าบ้านเสียอีก
ยกตัวอย่างเช่น
บ้านราคา 3,000,000 บาท ธนาคารให้ผ่อนเดือนละ 17,890 บาท
ในเดือนที่ 1 จะคิดเป็นดอกเบี้ย 14,875 บาท และเงินต้น 3,015 บาท (ยิ่งเงินต้นเหลือเยอะ ยอดผ่อนดอกเบี้ยรายเดือนก็เยอะตามไปด้วย)
หากผ่อนเดือนละ 17,890 บาท ไปเรื่อย ๆ ไม่มีการโปะเพิ่ม เราจะต้องผ่อนไปจนถึงเดือนที่ 221 หรือ 18 ปี กว่าที่จะเริ่มหักเงินต้นมากกว่าดอกเบี้ย ซึ่งในเดือนนี้จะจ่ายเงินต้นที่ 8,952 บาท และดอกเบี้ย 8,938 บาท
ในปีที่ 18 เงินต้นจะยังเหลือที่ 1,793,847 บาท นั่นเท่ากับว่า แม้การผ่อนบ้านจะเลยมาครึ่งทาง แต่เงินต้นยังลงไม่ถึงครึ่ง
ทว่าในตอนนี้ เมื่อเงินต้นเริ่มหักไปเยอะ ดอกเบี้ยแต่ละเดือนจะน้อยลงแล้ว (การคำนวณจะคำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือ) การผ่อนบ้านแต่ละเดือนจะไปหักเงินต้นแทน ดังนั้น เราจะใช้เวลาที่เหลืออีก 12 ปี ในการผ่อนบ้านที่เหลือไวกว่าเดิม แม้ว่าจะเหลือเงินต้นเกินครึ่ง และเวลาน้อยกว่าเดิมก็ตาม
อีกวิธีคือการรีไฟแนนซ์ โดยการขอกู้ธนาคารใหม่เพื่อปิดหนี้กับธนาคารเดิม โดยธนาคารแห่งใหม่จะช่วยเราจ่ายดอกเบี้ยนอัตราที่น้อยกว่าเดิมได้
เรื่องนี้ ผู้กู้บ้านทุกคนต้องเจอ และต้องศึกษาให้พร้อม มิเช่นนั้นอาจจะท้อแท้ระหว่างทาง โดยเฉพาะช่วงปีแรกที่ไปหักดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น จนดูเหมือนว่าเงินต้นไม่ลด