ชลน่าน แนะคนไทยมีลูก ลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม ปรับสมดุลโครงสร้างประชากร พร้อมคัดกรองสิทธิประโยชน์ในการตรวจรักษาโรค ด้านชาวเน็ตค้าน เอาเงินที่ไหนมาเลี้ยง
วันที่ 19 ตุลาคม 2566 เฟซบุ๊ก โหนกระแส รายงานว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวเปิดการประชุมเพื่อหารือและเสริมสร้างนโยบายมะเร็งในสตรี และโอกาสของการดูแลมะเร็งในสตรี ภายใต้หัวข้อ “Enhancing Women’s Cancer Care: Thailand Women Cancer Policy Forum” ว่า เดือนตุลาคมทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม ดังนั้น เดือนนี้จึงมีความสำคัญกับสุภาพสตรี ประเทศไทยก็ร่วมรณรงค์ในหลายกิจกรรม เพื่อสร้างความตระหนักรู้กับการต่อสู้มะเร็ง
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็แถลงนโยบายต่อรัฐสภาด้วยนโยบายการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HVP) เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก ให้กับเด็กหญิงอายุ 11-20 ปี ทั้งในและนอกระบบสถานศึกษา จำนวน 1 ล้านคนภายในสิ้นปี 2566 ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนใน 100 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป
ทั้งนี้ มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในมะเร็งเพศหญิง แต่อัตราเสียชีวิตน้อยกว่ามะเร็งปากมดลูก ตัวเลขตายของมะเร็งเต้านมอยู่ที่ร้อยละ 40 หรือคิดเป็นผู้ป่วย 17,000 คน ตาย 5,000 คน ส่วนมะเร็งปากมดลูกมีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 50 ถือเป็นอัตราที่สูงมาก เพราะผู้ป่วยมาหาตอนที่มีอาการป่วยอยู่ในระยะ 3 หรือ 4 ถ้าเราทำให้การรักษาเกิดขึ้นเร็ว จะช่วยลดตัวเลขการตายได้ครึ่งหนึ่ง
ข้อมูลทางวิชาการ ระบุว่า ความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม พบสูงในผู้หญิงที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 1 ปี แล้วประจำเดือนหมดหลังอายุ 55 ปี ที่สำคัญคือ มะเร็งเต้านมมีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิง ข้อมูลระบุชัดเจนว่าผู้หญิงที่มีลูก 3 คนขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมน้อยกว่าคนที่ไม่มีลูก ดังนั้น จึงต้องรณรงค์ให้เรามีลูก เพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม สร้างความสมดุลให้กับโครงสร้างประชากรของประเทศ
นอกจากนี้ ตนได้ฝาก สปสช. พิจารณาการเพิ่มสิทธิประโยชน์การคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเมมโมแกรม ในผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป เพราะปัจจุบันจะทำได้เฉพาะตอนมีอาการ ยังไม่ครอบคลุมผู้ไม่มีอาการ อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคอขวดในการดูแลผู้ป่วย จึงต้องกำหนดกลุ่มปัจจัยเสี่ยงอันดับแรก คือ เพศหญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีประจำเดือนเร็วและหมดช้า, ผู้ที่มีภาวะอ้วน และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
ด้านชาวเน็ตที่อ่านข่าวนี้ต่างไม่เห็นด้วยกับ นพ.ชลน่าน มองว่า การเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก การพูดให้คนมีลูกเป็นสิ่งที่ง่าย แต่ทำยาก ถ้าอยากให้คนมีลูก รัฐต้องเพิ่มสวัสดิการให้ ขณะเดียวกันก็มีบางคอมเมนต์ติดตลก บอกว่า ถ้าอยากให้มีลูกควรมีสามีก่อน ผ่ากลางวงรถทัวร์แบบโบ๊ะบ๊ะไม่น้อยเลยทีเดียว