April 1, 2016 Edition
บทความพิเศษ
โดย อัครชัย
เมตตา
สมัยเด็ก ๆ อยู่บ้านนอกถิ่นชนบทห่างไกลความเจริญ วิถีชีวิตคนและสัตว์จะอยู่ใกล้กัน เช่น วัว ควาย สุนัข แมว เป็ด ไก่ นก และสัตว์อื่น ๆ จำนวนมาก ภาพที่พบเห็นบ่อย ๆ คือ เวลาพบเห็นงู ตะขาป แมงป่องฯลฯ ผ่านมา ผู้ใหญ่จะไล่ตีไล่ฆ่า จนตายคามือ
เด็ก ๆ ถามว่า “ทำไมต้องฆ่า” ผู้ใหญ่ตอบว่า “ถ้าไม่ฆ่า มันจะกัดเรา” ทั้งที่มันยังไม่มากัด หรือบางครั้งมองเห็นอยู่ห่าง ๆ แทบไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์เลย แม้กระทั่งนกที่จับอยู่บนกิ่งไม้ ยังถูกหนังสะติกไล่ยิง บางตัวตกลงมาจะเอาเนื้อหนังมาทำอาหารก็ไม่ได้ เช่น นกกระจิบ นกกระจอกตัวเล็ก ๆ
เด็ก ๆ ถูกสอนและได้ตัวอย่างไม่ดี ปลูกฝังกันมานานในสังคมไทย
เข้าโรงเรียนประถม คุณครูสอนว่า “ให้มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์” ครูยกตัวอย่างว่า “เอาเงินให้คนขอทาน” คือ ความเมตตากรุณา โดยไม่ได้อธิบาย และไม่ได้สอนเด็กว่า “สัตว์ทั้งหลาย” ต้องให้ความเมตตากรุณาเขาด้วย ดังคำสอนของพุทธศาสนาที่ให้ “แผ่เมตตา” แก่คนและสัตว์ผู้ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ต่อมามีพระมาเทศน์ในโรงเรียน สอนให้เด็กว่าตามทีละข้อ “ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ ห้ามประพฤติผิดในกาม ห้ามพูดปด ห้ามดื่มสุรา”
พระให้ท่องจำ ท่านบอกว่าคือศีล ๕ ทุกคนจำได้ขึ้นใจตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่เข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น ซ้ำสภาพสังคม ตัวอย่างจากผู้ใหญ่ที่ประพฤติปฏิบัติให้เด็กเห็นทุกวัน หนักหนากว่าศีล ๕ ข้ออีก จนดูเป็นเรื่องปกติธรรมดา ถึงขนาดว่า “ตัวอย่าง น่าจะให้ผลมากกว่าคำสอน”
เมื่อได้บวชเรียนศึกษาอย่างละเอียดแล้วจึงเข้าใจ เบญจศีล ๕ คือข้อควรงดเว้น และมีข้อควรปฏิบัติเรียกว่า เบญจธรรม ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ปลอดเวร ปลอดภัย เพิ่มพูนความดีแก่ผู้ปฏิบัติ ได้แก่
๑.เมตตากรุณา คือความรัก ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น
๒.สัมมาอาชีวะ คือการประกอบสัมมาชีพ
๓.กามสังวร คือการสำรวมในกาม
๔.สัจจะ คือการพูดความจริง
๕.สติสัมปชัญญะ คือความระลึกได้และความรู้ตัว
“เมตตากรุณา” เป็นคำพูดที่คนในสังคมใช้บ่อยที่สุด ได้ยินมากที่สุด แต่ในสังคมก็มีเหตุการณ์ที่“มนุษย์” “แล้งน้ำใจมากที่สุด” เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง
-๒-
“เมตตากรุณา” อยู่ในหัวข้อธรรม ชื่อ พรหมวิหาร ๔ เป็นธรรมที่ช่วยให้คนอยู่อย่างประเสริฐบริสุทธิ์ ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ เพื่อปฏิบัติตนต่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย หรือหมายถึง ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความเป็นพรหม
๑.เมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข
๒.กรุณา ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์
๓.มุทิตา ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขา เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป
๔.อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายทำแล้ว สมควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมเหตุผล รู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีสิ่งที่ควรทำ หรือมีผู้รับผิดชอบได้ดีแล้ว สมควรได้รับผลกรรมอันเกิดจากการกระทำของเขาเอง
ผู้ปฏิบัติพรหมวิหารธรรม ย่อมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสัตว์ได้ แม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือ คนอื่น แต่ก็ต้องมี อุเบกขา กำกับด้วย เพื่อมิให้เสียธรรม เพราะ “เมตตากรุณา” มีทั้ง “สมบัติ” และ “วิบัติ”อยู่ในตัว หากใช้ไม่ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา
มี “เมตตา” หากขาด “ปัญญา” จะนำ “ปัญหา” มาให้
มี “ความกรุณา” ก็เช่นกัน หากคนที่เราจะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ แต่ตัวเขาขาด “วิริยะบารมี” คือไม่พยายามพึ่งพาตนเองเลย คอยอาศัยคนอื่นตลอดเวลา ใครก็ไม่สามารถช่วยให้เขาพ้นทุกข์ได้ ดังพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน (คนอื่นพึ่งได้บ้าง ไม่ได้บ้าง) ในวงเล็บผมแปลเองครับ
ถ้าปฏิบัติ ข้อ “มุทิตา” ได้ จะคอยป้องกันตัวอิจฉาริษยา และรู้จักมองหาความดีคนอื่น
ถ้าปฏิบัติ ข้อ “อุเบกขา” ได้ ป้องกันตัว “อคติ” แปลว่า ความลำเอียง มี ๔ อย่าง คือ ฉันทาคติ = ลําเอียงเพราะรัก โทสาคติ =ลําเอียงเพราะโกรธ ภยาคติ =ลําเอียงเพราะกลัว โมหาคติ =ลําเอียงเพราะเขลา(โง่)
พรหมวิหาร ๔ เรียกอีกอย่างว่า อัปปมัญญา ๔ เพราะเผื่อแผ่ไปไม่เลือกคนและสัตว์ ไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต พรหมวิหารมีอยู่ในผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลด้วยคนอื่นด้วย สังคหวัตถุธรรม เป็นต้น
จิตของผู้มีเมตตา จะมีปกติแตกต่างจากผู้ไม่มีเมตตา เราไม่อาจคาดเดาได้จากการดูสีหน้าท่าทาง แต่เป็นน้ำใจ ที่ฝังลึกอยู่ภายใน “ความเมตตา” จะมองเพื่อนมนุษย์และสัตว์ มีสภาพเสมอกัน คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย รักตัวกลัวตาย กิน กาม เกียรติ ดังที่ ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวไว้ว่า
จงทำกับเพื่อนมนุษย์โดยคิดว่า…
-๓-
เขาเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของเรา
เขาเป็นเพื่อน เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารด้วยกันกะเรา
เขาก็ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส เหมือนเรา ย่อมพลั้งเผลอไปบ้าง
เขาก็มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่น้อยไปกว่าเรา
เขาย่อมพลั้งเผลอบางคราว เหมือนเรา
เขาก็ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม เหมือนเรา ไม่รู้จักนิพพานเหมือนเรา
เขาโง่ในบางอย่าง เหมือนที่เราเคยโง่
เขาก็ตามใจตัวเองในบางอย่างเหมือนที่เราเคยทำ
เขาก็อยากดี เหมือนเรา ที่อยาก ดี-เด่น-ดัง
เขาก็มักจะกอบโกย และเอาเปรียบเมื่อมีโอกาสเหมือนเรา
เขาก็มีสิทธิ์ที่จะ บ้าดี-เมาดี-หลงดี-จมดี เหมือนเรา
เขาเป็นคนธรรมดา ที่ยึดมั่นถือมั่นอะไรต่างๆ เหมือนเรา
เขาไม่มีหน้าที่ ที่จะเป็นทุกข์ หรือตายแทนเรา
เขาเป็นเพื่อนร่วมชาติ ร่วมศาสนากะเรา
เขาก็ทำอะไรด้วยความคิดชั่วแล่น และผลุนผลัน เหมือนเรา
เขามีหน้าที่รับผิดชอบต่อครอบครัวของเขา มิใช่ของเรา
เขามีสิทธิ์ที่จะมีรสนิยม ตามพอใจของเขา
เขามีสิทธิ์ ที่จะเลือก (แม้ศาสนา)ตามพอใจของเขา
เขามีสิทธิ์ ที่จะใช้สมบัติสาธารณะเท่ากันกับเรา
เขามีสิทธิ์ ที่จะเป็นโรคประสาท หรือเป็นบ้า เท่ากับเรา
เขามีสิทธิ์ที่จะขอความช่วยเหลือ เห็นอกเห็นใจจากเรา
เขามีสิทธิ์ ที่จะได้รับอภัยจากเรา ตามควรแก่กรณี
เขามีสิทธิ์ ที่จะเป็นสังคมนิยม หรือเสรีนิยม ตามใจเขา
เขามีสิทธิ์ ที่จะเห็นแก่ตัว ก่อนเห็นแก่ผู้อื่น
เขามีสิทธิ์แห่งมนุษยชน เท่ากันกับเรา สำหรับจะอยู่ในโลก
April 15, 2016 Edition
บทความพิเศษ
โดย อัครชัย
สัตว์มนุษย์
“มนุษย์” เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่เกิดมาประเสริฐเลิศเลอกว่าสัตว์ทั้งหลาย เพราะมี “สมอง” มี “จิตใจ”มี“จิตสำนึก” มี “สติ” มี “ปัญญา” มี “ความสามารถ” หลาย ๆ อย่าง
“มนุสฺส” เป็นภาษาบาลี (อ่านว่า มะ-นุด-สะ) มีรากศัพท์มาจาก คำว่า มน (ใจ) + อุสฺส (สูง) = มนุสฺส แปลว่า “ผู้มีใจสูง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ บอกไว้ว่า “มนุษย-, มนุษย์ : (คำนาม) สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน.” บาลีใช้ “มนุสฺส” ภาษาสันสกฤตใช้คำว่า “มนุษฺย” ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “มนุษย์”
ไม่มีสัตว์ชนิดใดในโลกที่มีทุกอย่างอยู่ในร่างเดียวเหมือนมนุษย์ เช่น ความฉลาด-โง่-สวย-หล่อ-ขี้เหร่-ใจดี-ใจร้ายฯลฯ รวมถึงคุณสมบัติอื่น ๆ ที่สัตว์ทั้งหลายไม่มี คือ มีดี –ชั่ว-มารยา-สอพลอ -คดโกง-ซื่อสัตย์-โกหก-ตอแหลฯ และมนุษย์บางคนมี “ใจ” ต่ำกว่าสัตว์เดรัจฉานเสียอีก
“มนุษย์” บางคน ชอบด่า “มนุษย์” ด้วยกันว่า “ไอ้สัตว์” “เหี้ย” “ควาย” “หมา”ฯลฯ โดยไปเปรียบว่าสัตว์ที่เอ่ยชื่อมานั้น ต่ำ เลว โง่ ไม่ดี ตามพฤติกรรม ที่มนุษย์คิดกันเอง โดยที่สัตว์ไม่มีโอกาสแก้ตัวหรือชี้แจง
“มนุษย์” ทะเลาะวิวาทกัน มีคำเปรียบเปรยว่า “กัดกันเหมือนหมา” คนที่พูดจาไม่ระมัดระวัง ชอบใส่ร้ายคนอื่น ควรที่จะเรียกว่า “พูดไม่ดี พูดไม่ถูกต้อง” แต่มนุษย์ก็พร้อมใจกันเรียก “คนปากหมา” เพราะเห็นว่า หมากินขี้ กินของเน่าเหม็น ปากเหม็น
สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมา มีคุณลักษณะแตกต่างกันไปตามกำเนิด สภาวะ และธรรมชาติที่สร้างมา มีทั้งดี-เลว ฉลาด-โง่ มีพิษ-ไม่มีพิษ ตัวใหญ่-ตัวเล็ก น่ารัก และน่าเกลียดฯลฯ
มนุษย์ก็เช่นกัน มีคุณลักษณะแตกต่างกันไป ทั้งรูปร่าง หน้าตา จิตใจ และความประพฤติทั้งดี-เลว สัตว์เดรัจฉาน อย่างมากก็แค่แย่งอาหาร แย่งตัวเมีย กลัวภัย กลัวตาย ต่อสู้ป้องกันตัวเองเหมือนมนุษย์
สัตว์มนุษย์ ต่างหาก ไม่เพียงแค่แย่งกันกิน ยังมีโกง อิจฉา ริษยา อาฆาต จองเวร เข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างโหดเหี้ยม ร้ายยิ่งกว่าการกระทำของสัตว์อีก เรียกว่า สัตว์นรกในคราบของคน
มนุษย์ (ผู้มีใจสูง) อย่างน้อยต้องมีศีล- มีธรรม- มีหิริ(ความละอาย) โอปตัปปะ(เกรงกลัวต่อบาป) มีเมตตา กรุณา รู้จักเสียสละ รู้จักให้ ไม่เห็นแก่ตัว มีน้ำใจ มีระเบียบวินัยฯ ต่อเพื่อนผู้ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย และ เอื้ออาทรต่อสังคมที่ตนอาศัยอยู่
คน (ผู้มีใจต่ำ) สามารถทำชั่วได้ทุกรูปแบบ ไม่มีความรู้สึกละอาย ขอให้มีโอกาสได้ทำ ได้กิน ได้โกง ได้เอาเปรียบฯ เหมือนเปรตที่ไม่รู้จักคำว่าพอ ที่อยู่ของเปรต มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก คือ อเวจีมหานรก
-๒-
สัตว์บางชนิด มีคุณค่ามากกว่ามนุษย์ ๆ ได้เรียนรู้ปรัชญาชีวิตจากสัตว์
เปรียบเทียบ ๓ วิถีชีวิตสัตว์ใน องค์กรการทำงานของมนุษย์
ถ้าใช้ “เสือ” ทำงาน ต้องให้เขามีพื้นที่ อย่าควบคุม ปล่อยให้เขาไปล่าเหยื่อมาให้ ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องกำหนดวิธี เพราะพวกเขาคือนักล่า
ถ้าใช้ “ควาย” ทำงาน ต้องให้หญ้าเขากินอย่างเพียงพอ ต้องบังคับ พวกเขาอึด แต่ต้องจูงจมูก จะให้ไถนา หรือลากเกวียน
ถ้าใช้ “หมา” ทำงาน ต้องให้อาหาร ให้เวลา ให้ความสนิทสนม ให้เห่าและเฝ้าบ้าน พวกเขาจะภักดี ประจบ จับผิดเก่ง
ผู้บริหารที่ทำงานไม่เป็น มักจะใช้เสือเยี่ยงควาย จะใช้ควายเยี่ยงหมา และจะใช้หมาเยี่ยงเสือ
เสือ ไม่เลียปากนาย ไม่ประจบสอพลอ ไม่ไถนา
ควาย ไม่เฝ้าบ้าน ไม่ล่าเหยื่อ ไม่ประจบ
หมา ไม่ไถนา ไม่ล่าเหยื่อ รอกินของเหลือ ชอบเลียปากและเลียก้นนาย
เสือ ส่วนมาก มีภาวะผู้นำ กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง มีความมั่นใจในตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง แม้ลำบากตกยาก จะไม่กินเนื้อเสือด้วยกัน
ควาย ส่วนมากไม่เติบโต เพราะไม่คิดนอกกรอบ ไม่รู้จักคำว่าสร้างสรรค์ มักถูกหมาหลอกใช้และดูหมิ่นว่าโง่
หมา ส่วนมากเติบโตในองค์กร แต่ไม่สามารถสร้างอาณาจักรของตัวเองได้ ต้องเหยียบหัวคนอื่นขึ้น ต้องพึ่งพาเสือและควาย ในการเติบโต
เสือที่ฉลาดและมองการณ์ไกล จะเอาควายไปด้วย แต่ถ้าเป็นเสือบ้าอำนาจ มักจะเอาหมาไปด้วย
ราชสีห์ หรือสิงโต แม้จะเป็นสัตว์มีอำนาจ แต่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพักผ่อนประมาณ 20 ชั่วโมงต่อวัน แม้สิงโตจะแสดงอำนาจได้ตลอดเวลา แต่มันจะแสดงพลังตอนพลบค่ำกับช่วงเข้าสังคม แต่งขน และล่าเหยื่อ จะใช้เวลาเดิน 2 ชั่วโมงและกิน 50 นาทีต่อวัน เหมือนคนที่เกิดมามีวาสนา มียศ มีอำนาจ มีเงิน แต่ขาดปัญญา และสมอง ไม่มีความคิดอ่านที่เป็นประโยชน์
ช้าง เป็นสัตว์ใหญ่ที่มีปัญญา มีความจำดีและฉลาด ระดับสติปัญญาของช้างเทียบเท่ากับปลาโลมา เลยทีเดียว อริสโตเติล กล่าวไว้ว่า ช้าง “เหนือกว่าสัตว์ทั้งปวงทั้งในด้านไหวพริบและจิตใจ”
ช้าง แม้จะมีตัวตนที่ใหญ่ แต่ไม่ประมาท ชอบความสามัคคี อยู่เป็นฝูง เหมือนมนุษย์แม้จะมีอำนาจยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องมีทีมงาน
-๓-
ม้า เป็นสัญลักษณ์ของความแกร่งและอดทน มีผู้เปรียบเทียบไว้ว่า “หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” เหมือนคนทำงานจริง จะไม่ปริปากบ่นหรือพูดมาก (ม้าจะมีสายรัดที่ปาก) ส่วนคนที่ทำงานไม่เป็น มักจะเก่งแต่ปาก เก่งแต่หลักการ ทำงานด้วยปาก ไม่ลงมือปฏิบัติ ไม่มีผลงานหรือความสำเร็จให้เห็น
ปลาฉลาม นักล่าผู้สง่างามแห่งท้องทะเล จะไม่เข้าโจมตีมนุษย์ก่อน แต่จะเข้าโจมตีมนุษย์ก็ต่อเมื่อต้องการอาหารหรือได้กลิ่นคาวเลือด
ความเป็นฉลาม คือ ปลาใหญ่ มีพลัง มีอำนาจ มีความสามารถ อาศัยอยู่ในน้ำลึก เปรียบ เหมือนคนที่มีความคิดอ่านดีๆ เป็นมืออาชีพ บริหารงานเก่ง ๆ จะไม่หากินน้ำตื้น ไม่กินปลาซิว ปลาสร้อย แต่ทำอะไรแล้วสำเร็จเป็นกอบเป็นกำ ได้ผลกำไรเยอะๆ แต่ไม่ใช่เจ้าของกิจการแบบ “หมาจิ้งจอก” ที่ฉลาดแต่โกง
นกอินทรีย์ เป็นพญาแห่งนกทั้งปวง มีความสง่างาม โครงสร้างแข็งแรง จงวยปากคมกริบเหมือนมีด เป็นสัตว์ที่มีสายตาดีที่สุดในโลก บินเร็ว โจมตีแม่นยำ เด็ดขาด มองเห็นเป้าหมายได้จากระยะไกล มีเพดานบินสูง สามารถบินจากพื้นราบสู่ที่สูงในระดับเครื่องบิน เป็นนกหรือสัตว์ปีกที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก เฉลี่ยอยู่ได้นานถึง ๗๐ ปี มีสีเข้มและสร้างรังบนหน้าผาที่สูงชัน ยากที่มนุษย์และสัตว์อื่นจะเข้าประชิดตัว
บรรพบุรุษผู้ที่สร้างเมืองอเมริกา น่าทึ่งมาก สมกับบ้านเมืองนี้ มีอัจฉริยบุคคลเกิดขึ้นมากมายจากอดีตถึงปัจจุบัน เขาได้นำ “นกอินทรี” มาเป็นสัญลักษณ์หรือโลโก้ของประเทศ บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ เป็นมหาอำนาจ แข็งแกร่ง มองการณ์ไกล บินไปอย่างสง่างาม เป็นผู้นำโลกด้านต่าง ๆ
ต่างจากหลาย ๆ ประเทศในโลกนี้ ที่สอนพลเมืองตัวเองให้เป็น “อีแร้ง”
อีแร้ง ต่างจากตระกูลนกทั่วไป มีปีกกว้าง หางสั้น คอยาว หัวเล็ก มีขนเล็กน้อย มีกลิ่นเหม็นทั่วร่างกาย ปากยาว สามารถจิก เขี่ย คุ้ยหาอาหารได้อย่างรวดเร็ว สามารถกินอาหารได้มากกว่าความจุของกระเพาะตัวเอง ไม่ล่าเหยื่อหรือกินสัตว์เป็น ๆ เป็นอาหาร แต่จะกินเฉพาะซากศพจากคนและสัตว์ที่ตายแล้ว
หากเปรียบอีแร้งกับคนบางคนบางพวก ก็คือ คนอุบาทย์ชาติชั่วที่คอยซ้ำเติมคนที่กำลังเดือดร้อน เช่น รถมีอุบัติเหตุ มีคนเจ็บนอนร้องครวญครางขอความช่วยเหลือ แต่คนพวกนี้นอกจากไม่ช่วยแล้ว ยังจะซ้ำให้ตายแล้วรีบค้นหาทรัพย์สินเงินทอง สมบัติจากคนเจ็บ คนตาย รวมถึงกรณีอุบัติภัยที่เกิดขึ้นด้านอื่น ๆ ด้วย
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเมืองไทย มีเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่ง ได้มรณภาพลง กลุ่มญาติ ลูกหลาน พอทราบข่าวต่างวิ่งกรูเข้าไปภายในกุฏิ แย่งสิ่งของเครื่องใช้ ค้นหาทรัพย์สินของมีค่า โดยไม่สนใจพระเณรที่ยืนดูตาปริบ ๆ และไม่สนใจศพท่านเจ้าอาวาสที่นอนสงบนิ่งอยู่ คนโบราณ เรียกสิ่งนี้ว่า แร้งลง !
แร้ง หากินในสถานที่ทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา เช่น กินหมาเน่า ของเสีย แต่วันใดแร้งโฉบลงไปแทะซากศพคนตายที่ฝังไว้ในวัด เรียกว่า แร้งจัญไร เปรียบเหมือนคนที่ชอบไปหากิน หาผลประโยชน์จากวัด ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่คนส่วนใหญ่ไปทำบุญ สร้างบารมี ชำระจิตใจให้ใสสะอาด บริสุทธิ์ผุดผ่อง
-๔-
การได้เกิดเป็น “มนุษย์” นับว่ามีบุญ มีโชคมากที่สุดแล้ว มีโอกาสที่จะสร้างสมบุญบารมีให้ดียิ่งขึ้นไป เพื่อไปเกิดในภพภูมิที่สูงขึ้นจนถึงขั้นดับทุกข์ ไม่กลับมาเกิดอีก คือ พระนิพพาน
แต่ทำไมมนุษย์บางคนจึงอยากเป็น “อีแร้ง”