z

Akarachai บทความพิเศษ – March 2016

March 1, 2016 Edition

บทความพิเศษ

โดย อัครชัย

ภูมิปัญญาไทย

ชอบ “ภูมิปัญญา” ชาวบ้าน โดยเฉพาะภูมิปัญญาคนไทยโบราณ น่าเสียดายในอดีตของประเทศไทย นับจากสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  ที่ค้นพบหลักศิลาจารึกเรื่องอักษรไทยแล้ว เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ไทยรบกับพม่ามากมาย  แต่มีบันทึกเรื่องภูมิปัญญาไทยน้อยมาก

อยากรู้ว่า ใครนะ ช่างคิด เรื่องสูตรอาหารการกินของคนไทย อาหารไทย ที่โด่งดังไปทั่วโลกเวลานี้ สารพัดความหลากหลาย ถ้าป็นฝรั่งคงมีบันทึกไว้ว่า ใครคิดค้นขึ้นมาเป็นคนแรก

“ภาษาไทย”  ช่างสรรสร้าง มีอักขระ พยัญชนะ วรรยุกต์ ความสละสลวยของภาษา มีคำคม สำนวน สุภาษิต คำพังเพย บทกลอน โคลง คำเปรียบเทียบ เปรียบเปรย ฟังแล้วลึกซึ้งเข้าไปถึงกระดูก คนสมัยก่อนนอกจากจะลึกซึ้งในคำพูด คำสอนแล้ว ยังปฏิบัติได้อย่างเคร่งครัด

สมัยก่อนบอกว่า  “เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร”  สมัยนี้บอกว่า “เอาทองมาเท่าหัว  เอาผัวฉันไปไวไว”  หลายสำนวนไทยถูกแปรเปลี่ยนไปจากคนรุ่นใหม่ เช่น  “ด้านได้อายอด” “เอาตัวรอดเป็นยอดดี” ล้วนบ่งบอกถึงการเพาะเชื้อสิ่งที่ไม่ดีเข้าไปในจิตใจ

“หมาจนตรอก”  คำพังเพย  ทำให้ มองเห็นภาพชัดเจน  เวลามีคนเอาไม้ไปไล่ตีหมา ซึ่งหนีไปไหนไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องสู้สุดชีวิต

“เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” หมายถึง เกลียดตัวเขา แต่อยากได้ผลประโยชน์จากเขา

“แกว่งเท้าหาเสี้ยน”  หมายถึง รนหาเรื่องเดือดร้อน

“กงเกวียนกำเกวียน”  หมายถึง เวรสนองเวร กรรมสนองกรรม ทำอย่างไรย่อมได้อย่างนั้น

“กินบนเรือน ขี้บนหลังคา”  หมายถึง คนเนรคุณ

“กิ้งก่าได้ทอง”  “คางคกขึ้นวอ”  หมายถึง ได้ดีแล้วลืมกำพืดตัวเอง

“คดในข้องอในกระดูก”   หมายถึง มีสันดานคดโกง

“เป่าปี่ให้ควายฟัง”  หมายถึง การพูดจาแนะนําสั่งสอนให้คนโง่ฟัง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเขาเอง  แต่กลับไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะคนโง่ฟังไม่รู้เรื่องเหมือนคนเป่าปี่ให้ควายฟัง ควายฟังไม่รู้เรื่อง

“ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด”  หมายถึง คนที่ทําความผิดร้ายแรง ย่อมไม่สามารถปกปิดความผิดของตนได้ หรือพยายามหาหลักฐานมากลบเกลื่อน แต่ไม่สามารถปกปิดความผิดนั้นได้

นี่เป็นเพียงตัวอย่าง  แต่สุภาษิต คำพังเพยมีมากมายเป็นพันๆหมื่นๆ สำนวน

-๒-

สุภาษิต คำพังเพย ที่พูดสอนกันมาในอดีต ฟังแล้วแสบเข้าไปถึงทรวง แต่คนสมัยนี้ฟังแล้วไม่ระคายผิว เพราะความหนา  มีแต่คนแก่วิชา (ทั้งที่ไม่มีวิชา แต่แก่เพราะอายุ) มีผลงานวิจัยว่า คนไทยไม่ชอบคิด ไม่ชอบการอ่านหนังสือ  ไม่ชอบฟัง  แต่รู้ทุกเรื่อง(โดยเฉพาะเรื่องชาวบ้าน) ชอบเป็นผู้บริโภคมากกว่าเป็นผู้ผลิต

เรื่องความแสนรู้ของคนไทยไม่มีใครเกิน ให้สังเกตุเวลาไปนั่งร่วมวงสนทนา วงอาหาร วงเหล้า โต๊ะกาแฟ แม้แต่ฟังผู้แทนพูดในสภาฯ มีคนรู้เยอะ รู้มาก รู้ไปหมด ชอบพูด ไม่ชอบฟังคนอื่น พูดจบทำไม่ได้ ทำไม่เป็น ไม่มีอะไรสำเร็จสักอย่าง เพราะทำงานด้วยปาก  เช่น  ส.ส.ที่พูดเก่งๆ พอเป็นรัฐมนตรี สุนัขไม่รับประทาน

อีกตัวอย่าง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไปนั่งร่วมวงกับพี่น้องคนไทยงานหนึ่ง ก็มีผู้รู้พูดเรื่อง การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นประเด็นร้อนในเวลานี้ ผู้พูดก็ไม่มีความรู้อย่างแท้จริง แต่ก็อยากพูดให้คนอื่นฟัง คนฟังก็ขาดปัญญาในการฟัง ไม่รู้ว่าอะไรจริงไม่จริง เออออห่อหมก ไร้สาระทั้งคนพูดคนฟัง ผู้ที่ไม่รู้อะไรอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ควรพูด ควรนัดนั่งนิ่ง ๆ แล้วศึกษาให้รู้แจ้งแล้วค่อยพูด

เรื่องภูมิปัญญาของคนไทย ต้องยกความดีทั้งปวงนี้แด่บรรพบุรุษไทย บูรพาจารย์ที่คิดค้นตำรับตำรา  สุภาษิต คำพังเพย อาหารไทย สมุนไพรไทย  ศิลปะ  ลวดลายไทย  นาฏศิลป์  ฟ้อนรำ  เพลงไทย นวดแผนโบราณไทย และอื่น ๆ อีกมากมายให้แก่คนรุ่นหลัง เพียงแต่ไม่มีชื่อจารึกไว้ว่า ใครคือผู้คิดค้นเป็นคนแรก

ประวัติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆได้บันทึกชื่อบุคคลสำคัญไว้มากมายหลายท่าน ที่สำคัญคือ เขาได้บันทึก “อมตพจน์” คือ คำพูดของท่านไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และกลายเป็นอุดมการณ์ทางความคิด เช่น  จอห์น เอฟ เคนเนดี ประธานาธิบดีคนที่ ๓๕ ของสหรัฐ ได้พูดไว้ว่า “จงอย่าถามว่า ประเทศชาติจะให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามตัวท่านเองว่า ท่านจะทำอะไรให้ประเทศชาติ”

คำพูดของผู้นำคนสำคัญ ๆ อีกหลายท่านที่เราฟังแล้วขนลุก จึงเชื่ออย่างสนิทใจว่า เพราะเหตุใดท่านเหล่านี้จึงชื่อว่าเป็นบุคคลสำคัญระดับโลก เช่น เหมา เจ๋อ ตุง  มหาตมะ คานธี ลี กวน ยูฯลฯ

บุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่ควรเอ่ยถึง เขาได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยที่ยังไม่สามารถค้นพบตำตอบตามที่ตนต้องการ แต่ได้ทิ้งคำพูดเป็นปริศนาสำคัญให้มนุษยชาติคิด  เขาคือ อัลเบิร์ต ไอสไตน์  ช่วงสุดท้ายของชีวิตเขาเริ่มศึกษาพุทธศาสนาว่า จะเป็นศาสนาที่ให้ความสว่าง ให้คำตอบในสิ่งที่เขาพยายามค้นหา

ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต  มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ได้ตีพิมพ์งานเขียนชิ้นหนึ่งของอัลเบิร์ต ไอสไตน์  ชื่อ ” The Human Side ”  ทิ้งท้ายเป็นปริศนาแห่งโลกอนาคตว่า  “The religion of the future will be a cosmic religion. It should transcend personal God and avoid dogma and theology. Covering both the natural and the spiritual, it should be based on a religious sense arising from the experience of all things natural and spiritual as a meaningful unity. Buddhism answers this description. If there is any religion that could cope with modern scientific needs it would be Buddhism.” (Albert Einstein)

-๓-

“ศาสนาในอนาคต จะต้องเป็นศาสนาสากล ศาสนานั้นควรอยู่เหนือพระเจ้าที่มีตัวตน และควรจะเว้นคำสอนแบบสิทธันต์ (คือเป็นแบบสำเร็จรูปที่ให้เชื่อตามเพียงอย่างเดียว) และแบบเทววิทยา(คือพึ่งเทวดาเป็นหลักใหญ่) ศาสนานั้น เมื่อครอบคลุมทั้งธรรมชาติและจิตใจ จึงควรมีรากฐานอยู่บนสามัญสำนึกทางศาสนา ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ต่อสิ่งทั้งปวง คือ ทั้งธรรมชาติและจิตใจอย่างเป็นหน่วยรวมที่มีความหมาย   พระพุทธศาสนาตอบข้อกำหนดนี้ได้  ถ้าจะมีศาสนาใดที่รับมือได้กับความต้องการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ปัจจุบัน ศาสนานั้นก็ควรเป็นพระพุทธศาสนา”

ในหนังสือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  ได้บันทึกพระราชดำรัสของบุรพกษัตริย์ไทยหลายพระองค์ ในแต่ละยุคสมัย เช่น  สมเด็จพระนารายณ์มหาราชและสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  แต่แปลกใจว่า ทำไมบ้านเมืองเราไม่นำพระราชดำรัสสำคัญ ๆออกมาเผยแพร่ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเหมือนต่างประเทศ

สมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระราชปณิธานไว้ว่า

“อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก               ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา

 ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา         แด่พระศาสนา สมถะ พระพุทธโคดม

 ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี                   สมณะพราหมณ์ชี ปฏิบัติ ให้พอสม

 เจริญสมถะ วิปัสสนา พ่อชื่นชม       ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา

 คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า                      ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา

 พุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา        พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน”

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชปณิธานไว้ว่า

ตั้งในจะอุปถัมภก                                   ยอยกพระพุทธศาสนา

จะป้องกันขอบขัณฑสีมา                     รักษาประชาชนและมนตรีฯ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชนิพนธ์โคลงไว้ว่า

ฝูงชนกำเนิดคล้าย คลึงกัน                   ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ แผกบ้าง

ความรู้อาจเรียนทัน กันหมด                ยกแต่ชั่วดีกระด้าง อ่อนแก้ ฤๅไหว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้พระราชนิพนธ์กลอนไว้ว่า

อันความกรุณาปรานี                            จะมีใครบังคับก็หาไม่

 หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ        จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน(เวนิสวาณิช)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช  มีพระราชดำรัส  พระบรมราโชวาท แก่ปวงชนชาวไทยจำนวนมาก ในวโรกาสต่าง ๆ  และที่พสกนิกรชาวไทยได้ฟังบ่อย ๆ ทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน คือ

-๔-

“ในบ้านเมืองนั้น   มีทั้งคนดีและคนไม่ดี   ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด   การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อยจึงมิใช้การทำให้ทุกคนเป็นคนดี    หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง    และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ  ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

 

March 15, 2016 Edition

บทความพิเศษ

โดย อัครชัย

ทำดี ไม่ได้ดี

“ท้อแท้ หมดกำลังใจ ไม่อยากทำดี”    

“ทำดีไม่ได้ดี  ทำไมคนทำชั่วมันได้ดี”   “ทำดีได้ดี มีที่ไหน  ทำชั่วได้ดีมีถมไป”

“ชีวิตที่ผ่านมามีแต่ช่วยเหลือคน  แต่ละคนไม่เคยเห็นความดีดิฉันเลย  บางคนช่วยเหลือทุกอย่าง หางานให้ ให้ที่อยู่ที่กิน พอได้ดีก็ลืม”   “บางคนลำบากยากแค้นมา ขอยืมเงิน ให้ไปแล้วไม่เคยได้คืน”

“ญาติพี่น้อง ก็พึ่งพาไม่ได้”  “อย่าว่าแต่พี่น้องเลย   แม้แต่ลูกในไส้ พอเลี้ยงมันโต มีการมีงานทำ พึ่งพาไม่ได้สักคน”

“ทำคุณคนไม่ขึ้น” “ไม่อยากช่วยใครอีกแล้ว” “คนทุกวันนี้ไว้ใจยาก”

“ทำบุญแล้ว ไม่ได้บุญ”

เสียงตัดพ้อต่อว่า ผสมความน้อยใจของอุบาสก อุบาสิกาหลายท่านที่มาวัดแล้วเล่าเรื่องราวต่าง ๆให้พระฟัง

มีญาติโยมหลากหลายสาขาอาชีพ ท่านนายกรัฐมนตรี  ได้เข้ามาปรึกษาเรื่องงานคณะสงฆ์ และการจัดงานวิสาขบูชา ณ ท้องสนามหลวง นอกจากนั้นมีรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง  ส.ส.  นายทหาร นายตำรวจ   ครูอาจารย์ คุณหญิง คุณนาย ชาวบ้าน ชาววัด ฯลฯ หมุนเวียนตามโอกาส เข้ามากราบหลวงพ่อผม ซึ่งเป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่ ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และสภานายกมหาวิทยาลัยสงฆ์

ผมโชคดีได้รู้จักผู้คนจำนวนมากทั้งพระและคฤหัสถ์ ในฐานะลูกศิษย์ใกล้ชิดติดตามหลวงพ่อ  ประสานงาน คอยนัดหมาย ต้อนรับแขกที่มาพบ ได้ฟังการพูด การสนทนา และปรึกษางานด้านต่าง ๆ

ปัญหาชาวบ้านนี่เยอะจริง ๆ แล้วหลวงพ่อผมจะช่วยได้ไหม?  ข้าราชการบางคนอยากเลื่อนขั้น อยากย้ายไปอยู่หน่วยงานที่ดี  ฝากลูกเข้าโรงเรียนดัง ๆ ยังมาขอให้ท่านช่วยพูดกับผู้บังคับบัญชาระดับสูง

นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น

วันหนึ่งหลวงพ่อได้พูดถึง การทำความดี ที่จะเกิดผลดีตอบแทน  ตามนัยยะคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่า มีเหตุ-ปัจจัยเกื้อกูลกัน คือ

๑.ทำความดีต้องถูกที่ถูกทาง  ต้องรู้ว่าสถานที่ใดควรทำไม่ควรทำ ทำแล้วได้ประโยชน์อะไร ?

๒.ทำความดีต้องถูกเวลา  ต้องรู้กาลเทศะ  รู้กาลเวลา รู้จังหวะ โอกาสที่ควรทำ

๓.ทำความดีต้องถูกคน  ใครที่เราควรจะทำดีด้วย  ควรทำบุญกับใคร ?  ควรให้ทานแก่ใคร? และ ควรให้การช่วยเหลือสงเคราะห์ใคร?

-๒-

๔.ทำความดีต้องถูกต้องตามทำนองคลองธรรม  ทำดีจริง  เจตนาบริสุทธิ์ ไม่ใช่ทำหลอก ๆ  หรือทำเอาหน้า แฝงไว้ด้วยเจตนาอื่น

นึกถึงข่าวดังในเมืองไทย ที่มีผู้ถวายเงินวัดเป็นร้อย  ๆล้าน ขณะนี้ผู้ถวายถูกศาลตัดสินจำคุก ๑๖ ปี โทษฐานฉ้อโกงเงินมาถวายพระ  ทำให้เงินสหกรณ์สูญกว่าพันล้าน

บางคนทำงาน อยากได้ดี ดิ้นรน  วิ่งเต้น  ประจบ สอพลอ  อิจฉาริษยากลั่นแกล้งคนอื่น อยากเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง แต่เหมือนตราชั่งที่หนักข้างหนึ่ง แต่เบาข้างหนึ่ง คือไปหนักข้างอยากได้ดี แต่เบาข้างทำหน้าที่ เบาเรื่องงาน จึงไม่สมดุลย์กัน มีพุทธภาษิตรับรองไว้ว่า

อุฎฺฐานวโต  สติมโต          สุจิกมฺมสฺส  นิสสมฺมการิโน

สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน    อปฺปมตฺตสฺส  ยโสภิวฑฺฒติ ฯ ๒๔ ฯ

ยศย่อมเจริญแก่ผู้ขยัน      มีสติ มีการงานสะอาด

ทำงานด้วยความรอบคอบระมัดระวัง เป็นอยู่โดยชอบธรรม ไม่ประมาท

ทำไมหลายคนบ่นว่า “ทำบุญแล้วไม่ได้บุญ” “ทำดีแล้ว ไม่ได้ดี”

สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว นำมาบอกกล่าวแก่ชาวโลก สิ่งนั้นเป็นสัจจธรรมความจริง  สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ตามหลักวิทยาศาสตร์  ท้าให้คนทั้งโลกมาพิสูจน์ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ดังพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่

ยาทิสํ  วปเต  พีชํ               ตาทิสํ ลภเต ผลํ

กลฺยาณการี กลฺยาณํ            ปาปการี จ ปาปกํ

บุคคลหว่านพืชเช่นใด       ย่อมได้ผลเช่นนั้น

ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี     ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว(พุทฺธ) สํ.ส ๑๕/๓๓๓.

การทำความดี หรือ การทำบุญ ในทางพุทธศาสนา สามารถทำให้เกิดขึ้นได้หลายทาง ตามหลัก บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ แต่คนส่วนมากเข้าใจว่า การทำบุญหรือทำความดี ได้แก่การบริจาคทรัพย์เท่านั้น แต่ในหลักคำสอนของพุทธศาสนามีหลายอย่างที่ควรทำ มีพุทธภาษิตรับรองไว้ว่า

ปุญฺญญฺเจ  ปุริโส  กยิรา     กยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ

ตมฺหิ  ฉนฺทํ  กยิราถ           สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย ฯ ๑๑๘ ฯ

ถ้าหากจะทำความดี                           ก็ควรทำดีบ่อยๆ

ควรพอใจในการทำความดีนั้น        เพราะการสะสมความดีนำสุขมาให้

บุญ แปลว่า ความดี  กุศล แปลว่า ฉลาด (บุญกุศล คือ ฉลาดในการทำความดี)

ศรัทธา แปลว่า ความเชื่อ  ปัญญา แปลว่า ความเฉลียวฉลาด

-๓-

ผู้มี ศรัทธา แต่ขาด ปัญญา ในการพิจารณาไตร่ตรองสิ่งต่าง ๆ จะกลายเป็นคนหลง งมงาย ไม่ฉลาดในการทำบุญ จะตกเป็นเหยื่อของคนที่หลอกลวง  เอาบุญมาขาย นำสวรรค์นิพพานมาล่อ ดังที่เป็นข่าวคู่กับสังคมไทยมานานแสนนาน มีทุกรูปแบบ  และมีแนวคิดใหม่  ๆ เกิดขึ้นเรื่อย ๆ

กรณีที่บอกว่า  คนทำความชั่ว ทำไมได้ดี   จริงหรือ ?

การที่บอกว่า คนทำความชั่วแล้วได้ดี อาจเป็นแค่ภาพลวงตา หรือนิยามเอาตามใจคนพูด เพราะเคยเห็นตัวอย่าง ข้าราชการ นักการเมืองที่คอรัปชั่น  คนประกอบอาชีพไม่สุจริต คนคดโกง มีคฤหาสน์หลังใหญ่ มีรถหรู มีทรัพย์สินมากมาย รวมถึงพวกซื้อขายยาเสพติด ซื้อขายตำแหน่ง ฯลฯ

รู้ได้อย่างไรว่า คนพวกนี้ ทำชั่วแล้วได้ดี มีความสุข ? เรามองเห็นแค่ภาพภายนอกที่เขาชอบอวด ชอบโชว์สังคมว่ามีเงิน มีฐานะ มีหน้ามีตา มีชื่อเสียง ใครจะรู้ว่า “กรรม” ที่เขาไปทุจริตคดโกง บ้านเมืองมามันยังไม่ให้ผลอย่างรวดเร็วทันใจ แต่ผลของกรรมชั่วมันจะทยอยมาเรื่อย ๆ ตามโอกาส  จะมาในรูปแบบต่าง  ๆ เช่น โรค  ภัย อุบัติเหตุชีวิต  ติดคุก ถูกศัตรูตามฆ่า  จิตใจมีความเร่าร้อนเหมือนถูกไฟเผา ทุกข์ทรมานอยู่กับภาพหลอนในอดีตที่เคยทำชั่วมา คนภายนอกไม่รู้ แต่คนทำจะรู้อยู่แก่ใจ  ทรัพย์สินเงินทองแม้จะมีมาก แต่เป็นของร้อน  จะค่อย ๆ พินาศไปเรื่อย ๆ

ผลของกรรม ยังส่งผลกระทบไปถึงคนในตระกูล โบราณเรียกว่า อาเพศ คือ เกิดเรื่องไม่ดีเข้าบ้าน  เช่น ลูกหลานเกิดมาไม่สมประกอบ  ติดยาเสพติด ติดคุก ขึ้นโรงขึ้นศาล ลูกล้างผลาญวงศ์ตระกูล ฯลฯ

หลายคนคงนึกไม่ถึงว่า  การที่เรามีชีวิตอยู่ มีร่างกายและจิตใจที่สมประกอบ  มีการมีงานทำ มีบ้าน มีรถ มีทรัพย์สมบัติสำหรับเลี้ยงชีพ มีโอกาสสร้างบารมี ทำความดีแก่ตนเองและผู้อื่น มีประเทศอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม ไม่ตกอยู่ท่ามกลางเมืองอันตราย ที่มีการรบราฆ่าฟันและอพยพถิ่นฐาน ล้วนเกิดจากปุพเพกตปุญญตา (บุญที่เคยสร้างไว้) ปัจจุบันจึงกินบุญเก่า หากไม่สร้างบุญใหม่มาเสริมก็มีโอกาสเป็นเทวดาตกสวรรค์

เราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี  (อีกไม่กี่ปีก็ตายกันหมดแล้ว) ใครทำใครได้ อย่าท้อแท้ ท้อถอยในการทำความดีเพื่อตนเองและผู้อื่น แต่ให้รู้วิธีและฉลาดในการทำบุญทำความดี มีจุดยืนเป็นของตน มีจิตใจแน่วแน่มั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อคำนินทาสรรเสริญ  เหมือนท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ไล่ตะเพิดผู้ที่เข้ามาห้ามท่านไม่ให้ทำบุญ

ถ้าท่านทำดี ทำถูกต้องแล้ว ไม่ต้องไปแคร์ใคร ไม่ต้องให้ใครมาล้างสมอง  ไม่ต้องให้ใครมายุแหย่  ไม่ทำตามกระแสสังคม ใช้สติและปัญญามาเป็นตัวช่วย  ทำด้วยใจ  ด้วยจิตสำนึกและศรัทธาต่อความดี  และต้องรู้จักคำว่า “พอดี”  ด้วย จึงจะดี   เหมือนที่ หลวงวิจิตรวาทการ ท่านเตือนไว้ว่า

“อันที่จริงคนเขาอยากให้เราดี                           แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้

จงทำดีแต่อย่าเด่น จะเป็นภัย                             ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน”

About the author

LasVegasNews

Leave a Comment

Translate »