z

Akarachai บทความพิเศษ – January 2016

January 1, 2016 Edition

บทความพิเศษ

โดย อัครชัย

นกกระทา

สมัยเด็กๆ เคยอ่านนิทานอีสปเรื่อง “นกกระทา”   เล่าต่อกันมาว่า มีชายชราคนหนึ่ง ทำงานรับใช้เศรษฐี หลังจากที่ทำความสะอาดบริเวณสวนและสนามหญ้าเสร็จ  ด้วยความเหนื่อยอ่อน จึงไปนั่งเอนกายพักผ่อนที่โคนต้นไม้ใหญ่และเคลิ้มหลับไป  สักครู่ก็สะดุ้งตื่นขึ้นมา เพราะเหลือบไปเห็นนกกระทา  เดินเฉียดเข้ามาใกล้ที่เขานั่งอยู่   มือไวเท่าความคิด เขาตะครุบเจ้านกกระทาไว้ได้

นกกระทาตัวสั่นระริกด้วยความเกรงกลัวภัยที่มาถึง  และยังมิทันที่ชายชราจะทำอะไรลงไป นกกระทาก็พูดอ้อนวอนขอชีวิตว่า “โปรดอย่าฆ่าฉันเลย”   ชายชราซึ่งไม่รู้  “ความเมตตา ความกรุณาคืออะไร ?”  รู้เพียงว่าสิ่งที่เขาได้มาคือ “อาหาร” เขาจึงบีบขานกกระทาแน่นยิ่งขึ้น

นกกระทาเมื่อวินาทีชีวิตมาถึง จึงพูดอีกว่า “ไหน ๆ ฉันก็จะตายแล้ว ก่อนตายฉันขอมอบสิ่งของมีค่า ๔ อย่าง ไว้ให้ท่าน แล้วค่อยฆ่า” ชายชราจึงถามว่า  “มีอะไรบ้าง บอกมาซิ บางทีเราจะไว้ชีวิตเจ้า”

นกพูดว่า “ขอให้ท่านโปรดจำไว้ให้ดี การครองชีวิตให้มีความสุขนั้น มีหลักสำคัญอยู่ ๓  ประการคือ

๑.ต้องพยายามเก็บรักษาทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ไว้เลี้ยงชีวิต

๒.อย่าเศร้าโศกเมื่อถึงคราวต้องสูญเสียสิ่งที่รักไป

๓.ทุกอย่างในชีวิต จงรู้จักฟังหูไว้หู อย่าเชื่อง่าย เพราะคนรู้หน้าแต่ไม่รู้ใจ

ฉันจะบอกท่านเพียง ๓ ข้อนี้ก่อน ส่วนข้อ ๔ นั้นสำคัญมาก ขอท่านได้ปล่อยให้ฉันเป็นอิสระสักครู่  แล้วจะบอกข้อสุดท้าย  หากท่านไม่เชื่อใจฉันก็ไม่เป็นไร ฉันยอมตายและจะไม่บอกเรื่องสำคัญแก่ท่าน

ชายชรานั่งตรึกตรองอยู่ในใจสักครู่ คิดว่า ๓ ข้อที่นกกระทาพูดมานั้น  ล้วนมีประโยชน์ มีราคามากกว่าตัวนกเสียอีก ซึ่งอย่างมากก็แค่อาหารมื้อหนึ่ง แล้วเขาก็อยากฟังข้อสุดท้าย จึงปล่อยนกให้เป็นอิสระ

นกกระทาเมื่อได้รับอิสระภาพ จึงสะบัดขนแล้วสาวเท้าก้าวเดินหนีห่างชายชราไปหยุดยืนอยู่ห่าง ๆ แล้วพูดว่า “ทำไมท่านลืมง่ายจัง ในชีวิตท่านไม่เคยจดจำเรื่องสำคัญๆไว้เลยหรือ ฉันได้บอกไปแล้วว่า ให้พยายามรักษาสิ่งที่หามาได้ไว้เลี้ยงชีวิต ทำไมท่านจึงปล่อยฉันล่ะ?”

ชายชรายกมือเกาศรีษะ แค้นใจที่เสียรู้ แต่ก็ยังมีสติแล้วพูดว่า “ช่างเถอะ เราแพ้แล้ว แต่ก็ขอให้บอกข้อที่ ๔ แก่ฉัน”

“ข้อที่ ๔ มิใช่เป็นข้อเตือนใจท่านดอก แต่มันเป็นข่าวดีสำหรับท่าน เพราะในท้องของฉันขณะนี้มีเพชรน้ำหนักถึง ๒๐๐ กะรัต หากท่านไม่ปล่อยฉัน ท่านจะกลายเป็นเศรษฐีภายในพริบตา !”

ชายชราเสียใจมาก กลิ้งเกลือกตัวลงพื้น รำพึงรำพันด้วยความเศร้าที่สูญของมีค่าไป

-๒-

นกจึงพูดว่า “ท่านลืมอีกแล้ว เพราะท่านไม่ปฏิบัติตามข้อที่ ๒ ท่านจึงต้องเดือดร้อนใจอย่างนี้ ฉันบอกแล้วท่านก็ไม่เชื่อว่า อย่าโศกเศร้าเสียใจเมื่อต้องสูญเสียสิ่งที่รักไป”    “นอกจากท่านลืมข้อ ๒ แล้ว ข้อที่ ๓ ท่านก็ไม่นำมาใช้ในชีวิตจริง คือ จงฟังหูไว้หู อย่าเชื่อคนง่าย”

“ท่านมีชีวิตอยู่ในท่ามกลางสังคมอันคลุกเคล้าเต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา ท่านต้องรู้จักศึกษาคนและควรรู้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ หากในท้องฉันมีเพชรถึง ๒๐๐ กะรัต ท่านจะอุ้มฉันไหวหรือ ฉันจะเอาท้องที่ไหนมาใส่?”

นิทานเรื่องนกกระทา แม้จะมีมานานแล้วแต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงสังคมปัจจุบัน  ดัง “พุทธพยากรณ์” ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ถึงโลกในอนาคตที่ผ่านมา ๒,๐๐๐ กว่าปี บัดนี้สิ่งที่ทรงพยากรณ์ไว้เกิดขึ้นทุกข้อ

มนุษย์เกิดขึ้นมากมาย พื้นที่ทำมาหากินน้อยลง  “จิตใจ”ของคนจึงคับแคบไปด้วย เพราะต้อง “แย่งที่หากิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันสวาท แย่งอำนาจกันเป็นใหญ่”  คนส่วนใหญ่ จึงคิดเพียงว่า  “ต้องเอาตัวรอดไว้ก่อน” คนอื่นจะเป็นอย่างไร ช่างหัวมัน !

ในภาวะที่สังคมแร้นแค้น ต้องแย่งกันทำมาหากินเช่นนี้  การปลูกจิตสำนึกให้คนมีคุณธรรมความดี ความรับผิดชอบต่อสังคม จึงเป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องทำ อย่างน้อยในสังคมก็ต้องมีคนดีมากกว่าคนชั่ว ประเทศชาติจึงตั้งอยู่ได้ และต้องใช้กฏหมายที่แข็งแรงมาควบคุมด้วยดังเช่นในสหรัฐอเมริกา

มีพุทธวจนะที่ตรัสเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ชาวพุทธพึงแสดงออกในทางสังคมว่า

“นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ” แปลความว่า  “ข่มคนที่ควรข่ม  ยกย่องคนที่ควรยกย่อง”

พุทธวจนะนี้ มีความหมายชัดเจน ไม่ต้องอธิบายขยายความใดๆ แต่ที่น่าจะทำให้ท่านผู้อ่านเกิดข้อกังขาก็คือ ใครหรือคนประเภทใดสามารถกระทำเช่นนี้ได้

ประเด็นนี้ ถ้าดูจากพุทธประสงค์โดยอาศัยพุทธวจนะบทอื่นเทียบเคียง เช่นบทที่ว่า  “ความดี คนดีทำได้ง่าย แต่คนชั่วทำได้ยาก” และการที่จะข่มคนชั่วและยกย่องคนดีถือได้ว่าเป็นความดีเพราะจะทำให้คนชั่วทำความชั่วได้น้อยลง ดังนั้น คนที่จะทำเช่นนี้ได้จะต้องเป็นคนดี เพราะคนดี มีจิตใจซื่อตรงเป็นธรรม แยกความผิดและความถูกออกจากกันได้โดยอาศัยเหตุและผลไม่ถูกครอบงำด้วยโลภะ โมหะ โทสะ      

ส่วนคนชั่วไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ ทั้งนี้อนุมานได้โดยอาศัยหลักธรรมดังต่อไปนี้

๑. คนดีมีธรรม ประจำใจคือ หิริ ความละอายต่อการทำบาป และโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อผลของการทำบาป

คนชั่วไม่มีธรรม ๒ ประการนี้ จึงทำความชั่วได้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชั่วที่มีอำนาจ

-๓-

๒. คนดีย่อมมีธรรมที่ทำให้จิตใจงาม  ๒  อย่าง คือ สติ ความระลึกได้ทั้งก่อนคิด ก่อนพูด และก่อนทำว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรผิด อะไรถูก จึงช่วยป้องกันมิให้ทำชั่วและช่วยส่งเสริมให้ดี และสัมปชัญญะคือรู้สึกตัวว่าได้ทำอะไรลงไป ผิดหรือถูก และถ้าพบว่าได้ทำผิดไปก็แก้ไขให้ถูก

คนชั่วไม่มีธรรม ๒ ประการนี้ จึงทำผิดคิดชั่วเพื่อให้ตนเองได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการ โดยไม่คำนึงว่าใครจะเดือดร้อนจากการกระทำนั้น และเมื่อรู้ภายหลังโดยมีคนอื่นบอกกล่าวก็ไม่ยอมรับผิดและไม่คิดแก้ไขแต่ประการใด

ดังนั้น ในทางพุทธศาสนา  จึงถือว่าการที่คนจะปิดกั้นด้วยการข่มคนชั่วมิให้กระทำความชั่ว และการที่จะยกย่องคนดีเพื่อส่งเสริมให้คนทำดีเพิ่มขึ้น จึงเป็นหน้าที่ที่คนดีพึงกระทำ

แต่วันนี้และเวลานี้ ผู้คนในสังคม ถึงแม้จะมีคนดีอยู่มากมาย ถ้าเทียบกับคนชั่ว แต่คนดีส่วนใหญ่ก็เพิกเฉยไม่ทำหน้าที่  ๒ ประการดังกล่าว  จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้คนชั่วทำความชั่ว ทำความเลว สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนในสังคมโดยรวมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากจำนวนคนชั่วที่เพิ่มขึ้น ทำให้ดูประหนึ่งว่าสังคมไม่มีคนดีเหลืออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมการเมือง ซึ่งเป็นสังคมที่มีอำนาจในการนำพาประเทศ และชี้นำประชาชนในทุกด้าน และที่สำคัญที่สุดคือ ด้านนิติบัญญัติ และด้านบริหาร อันเป็นหน้าที่โดยตรงของนักการเมืองในฐานะตัวแทนของปวงชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งรัฐประหาร

การที่สังคมถูกครอบงำด้วยพฤติกรรมชั่วช้าเลวทรามเพิ่มขึ้นทุกวันน่าจะด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง       คือ   คนในสังคมไทย ถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยม และบริโภคนิยม ขณะเดียวกัน จิตนิยมที่เน้นการปลูกฝังศีลธรรม และจริยธรรมก็เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ และมีแนวโน้มจะหมดไป  เหลือ เพียงกฎหมายที่ใช้ปกครองประเทศ   ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็เป็นการเปิดโอกาสแก่คนรวยทรัพย์ และมีอำนาจในการปกครองประเทศ ออกกฎหมาย แก้กฎหมายเก่า ออกฎหมายใหม่ ดังที่เกิดขึ้นในสภาหลาย ๆ ประเทศ  และที่เป็นเช่นนี้ก็ใช่ว่าสังคมสิ้นคนดี แต่เป็นเพราะคนดีส่วนใหญ่ไม่ทำหน้าที่ของคนดี ตามนัยแห่งพุทธวจนะข้างต้น

   อะไรคือเหตุให้คนชั่วเหลิงอำนาจ และคนดีเพิกเฉย

คนชั่วเหลิงอำนาจ มิใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งเก่าที่เกิดขึ้นมานานแล้ว  ทุกครั้งที่คนดีอ่อนแอ และคนชั่วเข้มแข็งด้วยอำนาจเงินตรา หรืออำนาจทางการปกครอง หรือทั้งสองอย่างรวมกัน

   เมื่อใดคนดีกลับมาเข้มแข็ง และรวมกันต่อสู้กับอำนาจของคนชั่ว คนชั่วก็พ่ายแพ้ทุกครั้งไป เพราะคนชั่วจะแพ้ภัยตัวเองหรือไม่ก็แพ้กาลเวลา เพราะความชั่วไม่คงทนต่อการพิสูจน์ สักวันหนึ่งจะปรากฏ ตาม  “กฏแห่งกรรม”  เพราะคนชั่วถูกครอบงำด้วยอวิชชา แปลเป็นไทยว่า  “ความโง่”   นั่นเอง

มองให้ไกล ใจให้กว้าง อย่าคิดสั้น ๆ อย่าคิดแบบโง่ๆ

 

January 15, 2016 Edition

บทความพิเศษ

โดย อัครชัย

ใครผิด ?

ลูกที่เกิดจากท้องแม่เดียวกัน นิสัยใจคอ  ยังไม่เหมือนกันเลย  วิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรมไม่สามารถให้คำตอบได้  แต่พุทธศาสนา มีคำตอบชัดเจนคือ เรื่องของ “กรรม”  เป็นสันดานติดตัวมาแต่กำเนิด

พุทธศาสนา ได้กล่าวถึง “องค์ประกอบ”ของชีวิตที่เกิดมาว่า  “ ปะฏิรูปะเทสะวาโส  จะ    ปุพเพ  จะ  กะตะปุญญะตา   อัตตะสัมมาปะณิธิ  จะ    เอตัมมังคะละมุตตะมังฯ”  คือ การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม  มีสภาพแวดล้อมที่ดี การเลี้ยงดูอบรมจากครอบครัว การศึกษา ค่านิยม ความเชื่อด้านศาสนา  ประเพณี และวัฒนธรรม ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ

ชาวพุทธมีวิถีชีวิตแบบพุทธ ชาวคริสต์มีวิธีปฏิบัติแบบชาวคริสต์  ชาวมุสลิม  มีความเชื่อในหลักศาสนาและศาสดาของตน นอกจากนี้ยังมีการนับถือลัทธิ ความเชื่ออื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ในประเทศอินเดีย มีลัทธิความเชื่อมากกว่า ๒,๐๐๐ ลัทธิ เช่น นับถือลิง นับถือวัว นับถือเจ้าแม่ต่าง ๆ ในโลกนี้ยังมีคนที่ประกาศตัวว่าไม่นับถืออะไรเลย  ไม่มีศาสนาก็มีมากมาย

“มนุษย์” มีความแตกต่างกัน ทั้งร่างกายและจิตใจ  การศึกษา ค่านิยม ความเชื่อ  และวิถีชีวิตจึงมีวิธีคิดและการปฏิบัติไม่เหมือนกัน  การที่คนคิดต่างไม่ใช่เรื่องผิดหรือเสียหาย แต่การที่คิดต่าง แล้วไปเบียดเบียน  ไปทำลาย ทำร้าย กระทำการให้คนอื่นต้องปฏิบัติตามตนเองต่างหากเป็นความผิด  ยกเว้น “กฏหมาย  ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี งามของสังคม  ที่ทุกคนยอมรับพร้อมใจกันปฏิบัติ”

“ค่านิยม”  คือสิ่งที่บุคคลและสังคมยึดถือ มีทั้งดีและไม่ดีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา  เช่น

บางคนมีค่านิยมเรื่องความถูกต้องยุติธรรม มีความยึดมั่นในความดี จะไม่ยอมทำผิดแม้เรื่องเล็กน้อย ไม่กินนอกกินใน ไม่ทุจริตคอรัปชั่น

บางคนมีค่านิยมเรื่องเงิน ทำอะไรก็ได้ขอให้ได้เงิน ไม่ว่าวิธีการจะสกปรกโสมมแค่ไหนก็ตาม

บางคนมีค่านิยม ไม่เกรงกลัวบาปกรรม  ทำชั่วได้ตลอด  ไม่รู้จักคำว่าละอาย ไม่รู้จักคำว่าหน้าด้าน มีความละโมบ ขอให้ได้ประโยชน์ไว้ก่อน ใครจะเดือดร้อนไม่สนใจ

บางคนมีค่านิยม  ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายสมถะ ประหยัดถึงขั้นขี้เหนียว  ไม่ทำบุญ ไม่ให้ทาน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสังคม ไม่คบค้าสมาคมกับใคร

บางคนมีค่านิยม ชอบโอ้อวด ชอบโชว์ให้สังคมรู้ว่า เขามีฐานะ มีเงินมีทอง แสดงความร่ำรวยในรูปแบบต่าง ๆ แม้กระทั่งในลงใน  Facebook เป็นประจำวัน  ซึ่งทำได้ง่ายในโลกปัจจุบัน

บางคนมีค่านิยม ชอบเจ้ายศเจ้าอย่าง จะต้องให้คนคอยเอาอกเอาใจ ให้ความสำคัญ เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็พาลโมโห นั่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี อะไรก็แย่ไปหมด ตกลงในโลกนี้กูดีอยู่คนเดียว

-๒-

บางคนมีค่านิยมเรื่องความรัก บูชาความรัก ยอมตายได้เพราะคนรัก

มีหมู่บ้าน ๒ ตำบล ตั้งอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำจระเข้  และมีสะพานข้ามไปมาหาสู่กันเพียงสะพานเดียว วันหนึ่งเกิดพายุพัดสะพานขาด  ทำให้คนทั้งสองหมู่บ้านไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้  หนุ่มสาวคู่หนึ่ง เป็นคู่หมั้นกันแต่อยู่คนละฟากแม่น้ำ  ก่อนสะพานจะขาด ชายหนุ่มได้รับอุบัติเหตุนอนพักรักษาตัวที่บ้าน ฝ่ายหญิงคู่หมั้นรักและเป็นห่วงเขามากไม่เป็นอันกินนอน จะรอให้สะพานสร้างใหม่คงนาน

เธอตัดสินใจไปหาชายคนหนึ่งมีอาชีพพายเรือรับจ้างและมีเพียงคนเดียวในหมู่บ้าน พร้อมกับเล่าความจำเป็นและว่าจ้างให้พายเรือข้ามฟากไปหาแฟนหนุ่ม  ชายเจ้าของเรือพูดว่า “ ถ้าเธอจะไปจริง ๆ ฉันจะช่วยเพราะมันอันตรายมากไม่มีใครกล้านั่งเรือข้ามแม่น้ำนี้ ซึ่งมีจระเข้ชุกชุม  แต่มีเงื่อนไขว่า เธอจะต้องยอมให้มีเพศสัมพันธ์ ๑ ครั้ง และจะไม่คิดค่าจ้างใดๆ”

หญิงสาวฟังแล้วโกรธมาก  เธอจึงไปปรึกษาเพื่อนสาวที่รักกันมากคนหนึ่ง แต่เพื่อนสาว  กลัวเป็นภาระและเกรงว่าเรื่องราวต่าง ๆ จะมาพัวพันถึงตัวเอง  จึงไม่ออกความเห็นใด ๆ  และบอกเธอว่า ตัดสินใจเองก็แล้วกัน ฉันไม่รู้จะช่วยอย่างไร ?

หญิงสาวรู้สึกผิดหวังกับเพื่อนมาก  แต่ก็อดห่วงคนรักไม่ได้และไม่มีทางเลือกอื่น  เธอจึงตัดสินใจกลับไปหาชายเจ้าของเรืออีกครั้ง และตกลงตามนั้น

วันรุ่งขึ้น หนุ่มสาวทั้งสองได้พบกันเขาดีใจมาก และแฟนหนุ่มก็ถามหญิงสาวว่า “ สะพานขาดเธอมาได้อย่างไร ?”  หญิงสาวจึงตัดสินใจเล่าเรื่องทั้งหมดให้ชายหนุ่มฟัง  แฟนหนุ่มฟังแล้วโมโหมาก ด่าทอเธอต่าง ๆ นานา และบอกเลิกการเป็นคู่หมั้น ไม่ยอมรับว่าเธอคือคนรักอีกต่อไป

ขณะนั้นเพื่อนของชายหนุ่มอยู่ในเหตุการณ์ตลอด เขารู้สึกสงสารหญิงสาวมากที่เธออุตส่าห์ฝ่าอันตรายมาหาคนรักและถูกคนรักบอกเลิก เขาจึงเข้าไปต่อว่าเพื่อน   ทั้งสองโต้เถียงกันไปมาถึงขั้นลงมือชกต่อยกัน  แต่ชายหนุ่มซึ่งอยู่ในสภาพป่วยจึงถูกเพื่อนชกจนสลบลงไปกองอยู่กับพื้น

หญิงสาว เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ใจแทบแตกสลาย  จึงตัดสินใจวิ่งไปที่สะพาน และโดดลงแม่น้ำฆ่าตัวตาย

ถามว่าตัวละครทั้ง  ๕  คนนี้    “ใครผิด?”

บางคนมีค่านิยม ยึดมั่นถือมั่นในแนวทางของตนและพวกพ้วง ชนิดที่ไม่ยอมเปิดใจรับฟังการคิดต่างของคนอื่นเลย เช่น กรณีสีเหลือง สีแดงในสังคมไทยปัจจุบัน  ทำให้เกิดความแตกแยก ขาดความสามัคคี ลามถึงคนไทยที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ   อยู่อเมริกา   แต่ยังใช้วิธีคิดแบบไทย ๆ ไม่ก้าวข้ามความขัดแย้ง จมปักอยู่กับโคลนตม มองคนอื่น กลุ่มอื่น เป็นฝ่ายตรงข้าม เหมือนเมื่อครั้งอดีตที่รัฐบาลไทย สอนให้คนไทยเกลียดคอมมิวนิสต์ และมีคำสอนว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

-๓-

การที่คนอื่นคิดไม่เหมือนเรา มิได้หมายความว่า เขาเป็นคนไม่ดี เป็นคนชั่วคนเลว เพราะแม้กระทั่งตัวเราเองก็อาจมีความคิด การแสดงออกให้คนอื่นไม่ชอบหรือรังเกียจได้เช่นกัน

คนทั้งหลายมักตัดสินคนอื่น โดยยึดตนเองเป็นมาตรฐาน  เช่น  คนมีฐานะก็จะเอาเงินมาเป็นมาตรฐาน คนมีวุฒิการศึกษาสูง ก็จะมองคนอื่นว่าเรียนมาน้อยกว่า หารู้ไม่ว่าบางทีการมีวุฒิการศึกษา ไม่ช่วยให้ประสบความสำเร็จและเป็นคนดีเลยก็มีมากมาย หรือคนมีตำแหน่ง หน้าที่การงานดี เงินเดือนสูง  ก็จะวัดคนอื่นว่าด้อยกว่าตน เพราะมองไปแค่หน้าที่การงานภายนอก และมักเอาทุกเรื่องมารวมกันหมด โดยไม่แยกแยะ

คนจิตใจคับแคบ ก็จะมองแค่ประโยชน์ตน

กลุ่มคนเสื้อแดง ที่คิดดี ทำดี พูดดี ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติส่วนรวมก็มีมาก

กลุ่มคนเสื้อเหลือง ที่คิดดี ทำดี พูดดี ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติส่วนรวมก็มีมาก

เราต้องช่วยกันกำจัดพวกเสื้อแดง-เสื้อเหลือง  ที่คิดไม่ดี ทำไม่ดี พูดไม่ดี ทำลายประเทศชาติ ทำลายสังคม ยุแหย่ให้คนแตกแยก  แตกความสามัคคี คนพวกนี้ต่างหากที่เราควรช่วยกันขจัดออกไปจากสังคมไทย

ใครจะชอบสีไหน เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ไม่ควรนำสีมาเป็นเงื่อนไขว่า ต้องทำตามฉัน ต้องเป็นสีเดียวกัน ใครไม่เห็นด้วย คบกันไม่ได้  ร่วมงานกันไม่ได้ เชิญตามสบายเถอะ เพราะคนไม่ใช่ควาย  ถ้าคิดกันอยู่แค่นี้ เราจะก้าวข้ามความขัดแย้งได้อย่างไร มีแต่จะเพิ่มคู่ขัดแย้งขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคม

สีไหนก็ได้ขอให้เป็นคนดี พูดดี ทำดี คิดดี มีธรรม รู้จักเสียสละ มีผลงานพิสูจน์ได้ ไม่ใช่ดีต่อหน้า ลับหลังไม่ดี หรือมีความประพฤติที่สังคมรังเกียจ สังคมเอือมระอา เน่าเหม็นทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ กรณีเช่นนี้ก็ควรแยกออก ไม่ควรนำมาปะปนหรือเป็นมาตรฐาน เพราะอยู่สีไหนก็เน่าเหม็นเท่ากัน

ะพุทธศาสนา ตัดสินคนที่ “ความเป็นมนุษย์”  ใครรักษาศีล ๕ ได้มากที่สุด ใครทำความดีได้มาก ใครละความชั่วไม่ทำบาป ไม่เบียดเบียนคนอื่น    ใครมีจิตใจงาม ใจสูง  ยกระดับจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ ใครไม่อิจฉาริษยา ใครเสียสละ ใครบำเพ็ญประโยชน์ ใครทำบุญ ใครให้ทาน ใครปฏิบัติธรรมได้  ใครดับทุกข์ได้  ใครจะไปถึงซึ่งพระนิพพาน  คือ ไม่กลับมาเกิดอีก”

“ค่านิยม”  กับ  “สันดาน”  มีความคล้ายคลึงกัน แต่ไม่เหมือนกัน  เพราะค่านิยมคือ ความประพฤติเกิดขึ้นหลังการอบรมเลี้ยงดู การศึกษา วัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อ แต่สันดานติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งยากแก้ไข จนกว่าจะตายและไปเกิดใหม่ เป็นสันดานใหม่  เช่น  คนที่คอยจับผิด ชอบนินทาว่าร้าย อิจฉาริษยา ฯ

ปัญหาเรื่อง “ความคิดต่าง” ของคนมีมานานแล้วหลายพันปี จึงเกิดมีลัทธิศาสนามากมาย มีข้อปฏิบัติแตกต่างกันทั่วโลกไม่ใช่สิ่งแปลก และมนุษย์ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยมีกฏหมายคุ้มครอง

เรื่องที่น่ากลัว น่าขยะแขยงมากที่สุดในเวลานี้  คือสันดานคนชั่ว ที่ทำร้ายเข่นฆ่าผู้คนทั่วโลก แล้วอ้างศาสนา /นักการเมือง ข้าราชการที่ทุจริตคอรัปชั่นกินบ้านเมือง/ คนที่อาศัยวัดวาอารามเป็นที่ทำมาหากินแล้วอ้าง

-๔-

ว่าทำดี ทำบุญ /  คนที่ปากว่าตาขยิบภาพภายนอกอย่าง พอลับหลังอย่าง/คนที่ชอบยุแหย่นินทาว่าร้ายให้คนทะเลาะกัน/คนที่เห็นแก่ตัวละโมบโลภมากเหมือนเปรตที่ไม่รู้จักคำว่าพอ/คนตอแหลที่มีอยู่มากมายในสังคม /

ทำบุญ-กรวดน้ำ-อุทิศส่วนกุศล-แล้วภาวนาว่า “แม้ชาตินี้และชาติหน้าอย่าได้พบเจอบุคคลดังว่านี้อีกเลย”

About the author

LasVegasNews

Leave a Comment

Translate »